กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน ผู้ใช้งานเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สควรระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากแก๊สรั่ว แนะเปิดพัดลมระบายอากาศหรือช่องระบายอากาศทุกครั้งที่ใช้งาน ย้ำ หากมีอาการผิดปกติ เช่น วิงเวียนศีรษะ มึนงง หน้ามืด หายใจลำบาก ให้รีบออกจากห้องน้ำและขอความช่วยเหลือทันที เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิต
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานประกอบการที่พักในสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง ยังมีการติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สเพื่อให้บริการกับนักท่องเที่ยว เนื่องจากติดตั้งง่ายไม่ต้องเดินระบบไฟฟ้า และมีราคาถูก แต่บางแห่งมีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่มีการบำรุงรักษา จึงอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน เนื่องจากเครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สทำงาน โดยใช้ออกซิเจนในการเผาไหม้ เพื่อทำให้เกิดความร้อน ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษออกมาด้วย หากเกิดการรั่วไหล และมีการสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก จะส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจน เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียน ซึม หมดสติ และเสียชีวิตได้ โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากที่สุด คือ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคโลหิตจาง หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคความดันโลหิตสูง
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ผู้ประกอบการสถานที่พักที่ใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ดังนี้ 1) เลือกเครื่องทำน้ำอุ่นที่ได้มาตรฐานและบำรุงรักษาให้ถูกต้อง ปลอดภัย ตรวจสอบคุณภาพตามที่กำหนดในคู่มือใช้งานสม่ำเสมอ 2) ติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นในห้องน้ำที่มีพื้นที่กว้างเพียงพอ มีช่องลมหรือช่องระบายอากาศไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ห้อง หรือมีพัดลมระบายอากาศประตูห้องน้ำ มีช่องระบายอากาศด้านล่าง และสามารถเปิดจากข้างนอกได้ 3) ควรติดตั้งเครื่องทำน้ำอุ่นไว้นอกห้องน้ำถังแก๊สต้องตั้งบนพื้นราบและมีอากาศถ่ายเท 4) ควรแจ้งผู้เข้าพักให้ทราบถึงอันตรายและวิธีการใช้งานโดยติดป้ายเตือนไว้อย่างชัดเจนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษว่า “ให้เปิดพัดลมระบายอากาศทุกครั้งที่ใช้งาน” และติดตั้งสวิตซ์พัดลมให้พ่วงกับสวิตซ์ไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อป้องกันการลืมเปิดพัดลมระบายอากาศและ 5) ตรวจสอบระบบระบายอากาศในสถานที่พักโดยเฉพาะในห้องน้ำ
“สำหรับนักท่องเที่ยวผู้เข้าพัก ควรเปิดพัดลมระบายอากาศทุกครั้งที่อาบน้ำ ในกรณีที่มีการใช้งาน เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊สติดต่อกันหลายคน ให้เปิดพัดลมระบายอากาศ และเปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้หลังการใช้งานอย่างน้อย 10-15 นาที ก่อนจะมีผู้ใช้งานในรายถัดไป กรณีไม่มีพัดลมระบายอากาศ
หรือพัดลมระบายอากาศไม่ทำงาน หรือไม่มีช่องระบายอากาศ ควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นระบบแก๊ส แต่หากจำเป็นต้องใช้อาจเลือกวิธีการเช็ดตัวแทนการอาบน้ำซึ่งจะใช้เวลานานกว่า ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดขณะอาบน้ำ นอกจากนี้ ควรสังเกตอาการที่อาจเกิดขึ้น เช่น วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หายใจลำบาก หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบออกจากห้องน้ำและขอความช่วยเหลือทันที หรือหากได้กลิ่นแก๊สผิดปกติ ควรรีบเปิดประตู ปิดเครื่องทำน้ำอุ่น แล้วรีบออกจากห้องน้ำ และแจ้งผู้เกี่ยวข้องทันที หากพบผู้ป่วยที่หมดสติ ในห้องน้ำควรรีบให้การช่วยเหลือโดยนำผู้ป่วยไปยังพื้นที่โล่งที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และโทรสายด่วน 1669” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 18 พฤศจิกายน 2565