กรมอนามัย เตือน นมข้นหวานเลี้ยงทารก เสี่ยงขาดโปรตีน ภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อ เสียชีวิตย้ำทารกแรกเกิด – 6 เดือน กินนมแม่อย่างเดียว

  • 19 ตุลาคม 2565

 

นมข้นหวานเลี้ยงทารก

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน นมข้นหวานห้ามนำไปเลี้ยงทารกโดยเด็ดขาด เนื่องจากมีสารอาหาร ไม่เพียงพอกับการเจริญเติบโตของทารก และมีปริมาณน้ำตาลสูงมาก หากนำมาเลี้ยงทารก จะทำให้เกิด ภาวะขาดโปรตีน พลังงาน และสารอาหาร ส่งผลให้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อง่าย และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ย้ำทารกแรกเกิด ควรเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน ดีที่สุด

 

              นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์คุณแม่ท่านหนึ่ง ต้องเสียลูกน้อยวัย 3 เดือน ซึ่งอยู่ระหว่างการหาสาเหตุแต่จากข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ใช้นมข้นหวานเลี้ยงเด็กทารกแทนนมแม่ เนื่องจากทางบ้านไม่มีเงินซื้อนม กรมอนามัยได้ย้ำเตือน และให้ข้อมูลมาตลอดว่า นมแม่นั้นเข้มข้นด้วยสารอาหาร สารภูมิคุ้มกัน ฮอร์โมน และสารอาหารต่างๆ ที่เหมาะกับการเจริญเติบโต และช่วยพัฒนาสมองของทารกวัยเกิด จนถึงอายุ 6 เดือน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเสียเงินซื้อ และช่วยให้แม่ไม่มีน้ำหนักคงค้าง องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำทารกแรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน ควรได้กินนมแม่อย่างเดียว อีกทั้ง นมข้นหวาน ไม่ควรนำมาเลี้ยงทารก เนื่องจากมีส่วนประกอบหลักแค่ไขมัน น้ำตาล โซเดียม ต่างจากนมแม่ที่มีสารอาหารมากกว่า และนมผงดัดแปลงสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นนมสำหรับเลี้ยงเด็กโดยเฉพาะ การนำนมข้นหวานมาใช้เลี้ยงทารก หรือหวังเสริมคุณค่าทางอาหารแทนนมแม่ ทำให้ทารกเสี่ยงต่อภาวะขาดโปรตีน พลังงานและสารอาหาร ส่งผลให้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อง่าย และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

          “ทั้งนี้ นมแม่เป็นอาหารที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับทารก เพราะมีประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตทางกาย   พัฒนาสมอง จอประสาทตา รวมทั้งเป็นอาหารที่ย่อยง่าย ถูกสร้างมาให้เหมาะสมที่สุดกับสภาพร่างกายของทารกในแต่ละช่วงอายุ ช่วยให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรง ส่งเสริมทั้งสติปัญญา อารมณ์   นอกจากนี้ กรมอนามัยแนะนำ 9 แนวทางการส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และให้อาหารตามวัยแก่ทารกและเด็กอย่างเหมาะสม คือ 1) ให้นมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน ไม่ต้องให้อาหารอื่นแม้แต่น้ำ 2) เริ่มให้อาหารตามวัยที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ทุกวัน ตามวัยหลังอายุ 6 เดือน ควบคู่กับนมแม่ 3) เพิ่มจำนวน มื้ออาหารตามวัยเมื่ออายุลูกเพิ่มขึ้น จนครบ 3 มื้อ เมื่ออายุ 9-11 เดือน 4) ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณ และความหยาบของอาหารขึ้นตามอายุ 5) ให้อาหารรสธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการปรุงแต่งรส 6) ให้อาหารสะอาดและปลอดภัย 7) ให้ดื่มน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวาน และน้ำอัดลม 8) ฝึกวิธีดื่มกินให้สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัยและ 9) เล่นกับลูกสร้างความผูกพัน หมั่นติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 19 ตุลาคม 2565

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH