#ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะอาหารปรุงสำเร็จที่นำไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม ควรเป็นอาหารที่มีลักษณะแห้ง ไม่ใส่กะทิ หรือของหมักดอง และไม่ควรปรุงอาหารไว้ล่วงหน้าเกิน 4 ชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารบูดเสีย
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงนี้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ประชาชนไม่สามารถเดินทางไปซื้ออาหารได้ตามปกติ ส่งผลให้ขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม ดังนั้น หน่วยงานหรือผู้ที่มีจิตอาสาที่ต้องการทำอาหารเพื่อแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัย แนะนำให้ทำอาหารที่มีลักษณะแห้ง เน้นเมนูที่ไม่ใส่กะทิ เลี่ยงของหมักดอง ใช้กรรมวิธี ย่าง คั่ว ทอดน้ำมันน้อย และไม่ปรุงอาหารไว้ล่วงหน้านานเกิน 4 ชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารบูดเสีย โดยแนะนำ 5 เมนูที่สามารถคงสภาพในอุณหภูมิปกติได้นาน ไม่เสียง่าย ได้แก่ 1) ข้าวน้ำพริกปลาย่าง ไข่ต้ม 2) ข้าวผัดกะเพราหมูหรือไก่ เน้นรวนให้แห้ง 3) ข้าวเหนียวหมู/ไก่ทอด 4) ข้าวปลาดุกทอดกรอบผัดพริกเเกง และ 5) ข้าวคั่วกลิ้งหมู อาจแนมผักสดชนิดเสียยาก เช่น กะหล่ำปลี มะเขือเปราะ และควรบรรจุแยกกับข้าวใส่ถุงพลาสติกไว้ต่างหาก
“ทั้งนี้ เมื่อได้รับอาหารมา ก่อนกินควรสังเกตวันเวลาที่ผลิต และระยะเวลาในการบริโภคบนกล่องอาหาร ถ้ามีการระบุไว้ และไม่ควรวางข้าวกล่องที่บรรจุเสร็จบนพื้น แม้ว่าจะบรรจุในภาชนะปิดสนิทก็ตาม เพราะอาจทำให้ปนเปื้อนเชื้อโรคได้ นอกจากนี้ หากพบว่ามีกลิ่นผิดปกติ เหม็นบูด ควรทิ้งไปอย่าเสียดาย ในกรณีที่จำเป็นต้องบริโภคอาหารแปรรูป ควรตรวจดูสภาพผลิตภัณฑ์ อาทิ สี กลิ่น กระป๋อง หรือภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ต้องไม่ฉีกขาด กระป๋องไม่ปูดบวมหรือเป็นสนิม และสังเกตวันหมดอายุด้วย ส่วนอาหารปรุงสำเร็จ หากยังสามารถใช้ครัว ได้ตามปกติ ควรนำมาอุ่นให้ร้อนก่อนกินทุกครั้ง สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไต ควรดูแลตนเองและระมัดระวังเรื่องอาหารเป็นพิเศษ และต้องกินยาตามอาการอย่างต่อเนื่อง จะช่วยป้องกันความรุนแรงของโรคที่เป็นอยู่ได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 18 กันยายน 2565