กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีการสังเกตความแตกต่างระหว่างบอนออดิบกับบอนโหรา ห่วงผู้บริโภคเลือกกินผิด ทำให้เสี่ยงพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพตามมาได้ พร้อมย้ำเลือกซื้ออาหารปรุงสำเร็จ ที่มีบอนออดิบเป็นส่วนผสมให้เลือกจากร้านที่เชื่อถือได้
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีที่มีครู นักเรียน ในจังหวัดตรัง กินอาหารกลางวันที่เป็นแกงบอนหรือที่ภาคใต้เรียกว่า “ออดิบ” แล้วมีอาการปวดท้อง อาเจียน ต้องเข้ารับการรักษาจำนวนกว่า 18 คน นั้น เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากกินบอนโหราที่มีพิษแทน เนื่องจากพืชทั้งสองชนิดนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ทำให้หลายคนยังมีความสับสนระหว่างบอนออดิบกับบอนโหรา โดยมีวิธีการสังเกตข้อแตกต่างเพื่อให้เลือกนำมาปรุงประกอบอาหารได้อย่างถูกต้อง บอนออดิบที่กินได้ ใบจะมีสีเขียวอ่อน ขนาดเล็กและบาง รูปร่างคล้ายลูกศร ก้านใบสีขาวนวล ห่างริมขอบใบ ลำต้นสีเขียวอ่อน มีแป้งเคลือบ ส่วนบอนโหราที่กินไม่ได้ ใบจะมีสีเขียวเข้ม ขนาดใหญ่และหนา รูปร่างคล้ายตาลปัตร ก้านใบสีเขียวเข้ม ติดริมขอบใบ ลำต้นสีเขียวเข้มจะมีพิษที่เรียกว่าแคลเซียมออกซาเลท (Calcium Oxalate) ซึ่งมีลักษณะผลึกแบบเข็ม หากกินผักที่มีผลึกแบบนี้ อาจทำให้เกิดอาการ คันในปากหรือคอให้ล้างปากโดยการดื่มน้ำตามมาก ๆ แต่ถ้าพบอาการผิดปกติอื่นที่รุนแรงเช่น แสบร้อน เพดานปากบวมพอง เป็นตุ่มน้ำใส ให้รีบไปพบแพทย์ทันที และไม่ควรทำให้อาเจียนเพราะจะทำให้สารพิษสัมผัสกับเยื่อบุปาก และลำคออีกครั้ง
“สำหรับบอนออดิบ เป็นผักพื้นบ้านที่ให้พลังงานต่ำ แต่อุดมด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ ทั้งแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก เบต้าแคโรทีน วิตามินบีหนึ่ง บีสอง บีสาม และวิตามินซี ส่วนใหญ่นิยมนำมาปรุงเมนูอาหาร เช่น แกงส้ม แกงแค กินแนมกับน้ำพริก และยำ เป็นต้น ในกรณีที่ต้องการซื้ออาหารปรุงสำเร็จที่มีบอนออดิบ เป็นส่วนผสม ควรเลือกซื้อจากร้านค้าที่เชื่อถือได้ แต่หากไม่แน่ใจให้หลีกเลี่ยง เลือกกินเมนูอื่นแทนก็จะปลอดภัยกว่า” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 16 กันยายน 2565