กรมอนามัย ย้ำ กินเห็ดป่าช่วงหน้าฝน ไม่ระวังเสี่ยงเจอเห็ดพิษ

  • 8 กันยายน 2565

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำกินเห็ดป่าช่วงหน้าฝน เน้นกินเห็ดที่คุ้นเคย ได้คุณค่าทางโภชนาการ หลีกเลี่ยงเก็บ ซื้อ กินเห็ดที่ไม่รู้จัก อาจมีพิษอันตรายถึงชีวิต พร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

 

                           นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงฤดูฝนของทุกปีจะเป็นฤดูกาลเก็บเห็ดป่า เช่น เห็ดเผาะ เห็ดโคน เห็ดระโงก เห็ดตับเต่า เห็ดไค เป็นต้น ประชาชนจึงนิยมออกไปหาเห็ดป่า มาปรุงเป็นอาหาร เพื่อลดรายจ่ายหรือนำมาจำหน่ายเป็นรายได้เสริมในครัวเรือน เห็ดเป็นอาหารประเภทผักที่มีพลังงานต่ำ แต่อุดมด้วยโปรตีน ใยอาหาร โปตัสเซียม และวิตามินต่าง ๆ คุณค่าทางโภชนาการของเห็ด แต่ละชนิดแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่มีสรรพคุณช่วยเสริมภูมิคุ้มกันในร่างกาย ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดอาการอักเสบของร่างกาย เพราะมีวิตามินบีและดีสูง ช่วยลดไขมันในเลือด ช่วยลดอัตราความเสี่ยงจากโรคบางชนิด เช่น โรคมะเร็ง เบาหวาน อัลไซเมอร์ หลอดเลือดหัวใจอุดตัน และความดันโลหิตสูงอีกทั้งยังนำมาทำอาหารได้หลากหลาย เช่น ยำเห็ดสามอย่าง แกงเลียงเห็ด แกงอ่อมเห็ด ต้มยำเห็ด เป็นต้น ก่อนนำเห็ดมาปรุงประกอบอาหารต้องล้างน้ำให้สะอาดหลาย ๆ ครั้ง ปรุงให้สุกร้อนก่อนกินทุกครั้งด้วย

                          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในช่วงฤดูฝนของทุกปีมักมีรายงานว่า พบชาวบ้านมีอาการแพ้ และเจ็บป่วยจากสาเหตุกินเห็ดพิษเข้าไปเป็นประจำ จึงไม่ควรเก็บเห็ดที่ขึ้นใกล้โรงงานสารเคมี หรือเห็ดที่ขึ้นในบริเวณพื้นที่ที่ทำการเกษตรโดยใช้สารเคมี เนื่องจากเห็ดสามารถดูดซับสารพิษได้ดี หากเห็นเห็ดชนิดใดที่ไม่แน่ใจกินได้หรือไม่ ก็ไม่ควรเก็บมา ให้เลือกกินเฉพาะเห็ดที่รู้จักและคุ้นเคย หากไม่แน่ใจก็ไม่ควรกินจะปลอดภัยที่สุด เพราะอาจเป็นเห็ดพิษ หรือก่อให้เกิดอาการแพ้ และห้ามกินเห็ดดิบ ๆ โดยเด็ดขาด

                         “ทั้งนี้ ลักษณะเห็ดพิษที่พอสังเกตได้ คือ มีสีสัน หากกินเห็ดเข้าไปแล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้เตรียมน้ำอุ่นผสมผงถ่าน activated charcoal แล้วดื่ม 2 แก้ว ซึ่งแก้วแรกให้ล้วงคอให้อาเจียนออกมาเสียก่อน แล้วจึงดื่มแก้วที่ 2 แล้วล้วงคอให้อาเจียนออกมาอีกครั้ง ไม่ควรใช้ไข่ขาวดิบจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยท้องเสียเพิ่ม หรือติดเชื้อได้ จากนั้นให้รีบพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลทันที และแจ้งประวัติ การกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมนำตัวอย่างหรือภาพถ่ายเห็ดไปด้วย เพื่อรับการรักษาได้อย่างถูกวิธี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 8 กันยายน 2565

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH