กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาศักยภาพบุคลากรกรมอนามัยด้านกฎหมายให้มีความเข้าใจในกฎหมายบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เพื่อขับเคลื่อนงานด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพและอนามัยดี
วันนี้ (12 พฤศจิกายน 2561) นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรกรมอนามัยให้มีความเข้าใจในบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และมีทักษะความเชี่ยวชาญในการสนับสนุนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 และพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพมหานคร ว่า ปี 2559-2560 กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและออกกฎหมายใหม่จำนวนหลายฉบับ โดยมีกฎหมายที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานของกรมอนามัย จำนวน 3 ฉบับ ประกอบด้วยกฎหมายเดิมที่ได้เสนอให้มี การปรับปรุงแก้ไข จำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และกฎหมายที่ออกใหม่ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 และพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 ซึ่งในการขับเคลื่อน การดำเนินงานตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ให้เกิดประสิทธิภาพตรงตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้นั้น บุคลากรของกรมอนามัยในส่วนกลางและในระดับภูมิภาคมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุ ตามเป้าหมาย แต่การดำเนินงานที่ผ่านมาในช่วงปี 2559 จนถึงปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายทั้ง 3 ฉบับ มีผลบังคับใช้ ยังเกิดปัญหาในการดำเนินงานตามกฎหมายหลายด้าน ซึ่งหนึ่งในปัญหาที่พบคือบุคลากรของกรมอนามัยทั้งในส่วนกลางและในระดับภูมิภาคบางส่วน ยังขาดความเข้าใจในบทบัญญัติแห่งกฎหมายและขาดทักษะความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงทำให้การขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้
“การประชุมในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรกรมอนามัยให้มีความเข้าใจในบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 และพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 และ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรกรมอนามัยให้มีทักษะความเชี่ยวชาญในการดำเนินงานและสนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงาน และเป็นการเพิ่มพูนทักษะความเชี่ยวชาญในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานด้านส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อมให้กับหน่วยงานทั้งระดับจังหวัด ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และระดับท้องถิ่น ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันเป็นบทบาทหน้าที่ของศูนย์อนามัยตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมอนามัย พ.ศ. 2552 เพื่อให้หน่วยงานในระดับจังหวัดและระดับพื้นที่สามารถดำเนินงานด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 12 พฤศจิกายน 2561