กรมอนามัย แนะ กินข้าวเหนียวมะม่วงปริมาณพอดี ได้คุณค่าโภชนาการ

  • 19 เมษายน 2565

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะกินข้าวเหนียวมะม่วงในปริมาณที่เหมาะสม ได้คุณค่าโภชนาการ  ย้ำ มะม่วงสุกมีวิตามิน และแร่ธาตุหลายอย่าง ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินอี เบต้าแคโรทีน ใยอาหาร  สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยส่งเสริมสุขภาพ บำรุงผิวพรรณ และช่วยคลายความร้อน ทำให้ร่างกายสดชื่น

         

แนะ พระสงฆ์แยกฉันภัตตาหารร่วมกัน ลดเสี่ยงโควิด-19

                     นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงหน้าร้อน ข้าวเหนียวมะม่วง เป็นเมนูยอดนิยมที่หากินได้ง่าย มะม่วงสุกกินแล้วคลายความร้อน ช่วยให้ร่างกายสดชื่น ซึ่งเนื้อมะม่วงสุกมีวิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ได้แก่ วิตามินเอ และเบต้าแคโรทีน ช่วยบำรุงสายตา ใยอาหาร ช่วยในการขับถ่าย วิตามินซี ช่วยป้องกันเลือดออกตามไรฟัน สารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิวพรรณ นอกจากนี้ กะทิยังช่วยให้วิตามินเอและอี จากมะม่วงดูดซึมได้ดีขึ้น แต่ไม่ควรกินข้าวเหนียวมะม่วงมากเกินไป เพราะอาจทำให้ร่างกายได้รับพลังงานเกิน และกระตุ้นอาการร้อนใน เจ็บคอ การกินข้าวเหนียวมะม่วงให้อร่อย ไม่เสียสุขภาพ จึงควรกินในปริมาณที่ไม่มากและบ่อยเกินไป พร้อมทั้งควรหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อช่วยเผาผลาญพลังงานในแต่ละวันด้วย

 

 

                      ทางด้าน ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวว่า ข้าวเหนียวมะม่วง เป็นอาหารว่างที่ให้พลังงานที่ค่อนข้างสูง แต่ก็สามารถกินได้ โดยปฏิบัติตามข้อแนะนำ ดังนี้ 1) ผู้ที่มีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว สามารถกินข้าวเหนียวมะม่วงเป็นอาหารว่างได้ ประมาณ 150 – 200 กิโลแคลอรีต่อวัน โดยแบ่งเป็นมื้อเล็ก ๆ ข้าวเหนียวมูล 50 กรัม หรือ 1 ทัพพี ให้พลังาน 140 กิโลแคลอรี และมะม่วงสุกครึ่งผลให้พลังงาน 60 กิโลแคลอรี เมื่อรวมกันแล้วจะเท่ากับ 200 กิโลแคลอรี ซึ่งจะใกล้เคียงกับพลังงานของอาหารว่างต่อวัน  เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานสมดุลต่อวัน มื้อไหนหากกินข้าวเหนียวมะม่วงแล้ว ควรงดของหวานอื่น และออกกำลังกายเพื่อช่วยเผาผลาญพลังงาน ส่วนผู้มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ควรหลีกเลี่ยง เนื่องจาก ข้าวเหนียวมะม่วงให้พลังงานสูง

                     “2) ควรกินข้าวเหนียวมะม่วงช่วงเวลากลางวัน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายต้องใช้พลังงานทำกิจกรรมต่าง ๆ เลี่ยงกินตอนมื้อเย็น เนื่องจากมีกิจกรรมที่ต้องทำน้อย พลังงานที่ได้รับอาจเผาผลาญและนำไปใช้ไม่หมด เกิดเป็นไขมันสะสมตามร่างกายได้ และ 3) ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ควรต้องระมัดระวัง เพราะข้าวเหนียวมะม่วงเป็นอาหารที่มีน้ำตาล และไขมันค่อนข้างสูง ส่วนผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงกินมะม่วงสุก เพราะมีปริมาณโพแทสเซียมสูง การกินข้าวเหนียวมะม่วงให้อร่อยแบบไม่เสียสุขภาพ ควรกินพอประมาณ ไม่มากหรือบ่อยนัก และกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ละหมู่ให้สมดุลกัน เพื่อจะได้ป้องกันร่างกายไม่ให้รับอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมากหรือน้อยเกินไป ควรลดปริมาณอาหารอื่นที่มีส่วนประกอบของไขมัน น้ำตาล และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดี” ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าว

***

กรมอนามัย / 19 เมษายน 2565

 

 

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH