กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนเตรียมความพร้อมในการทำบุญ อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่เพิ่มขยะ พร้อมส่งเสริมให้พระสงฆ์มีสุขภาพและอนามัยที่ดี
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลออกพรรษาที่จะมาถึง คาดว่า จะมีพุทธศาสนิกชนมาทำบุญภายในแต่ละวัดเป็นจำนวนมาก ประชาชนควรเตรียมความพร้อมในการเลือกอาหาร สิ่งของเครื่องใช้สำหรับทำบุญ เพื่อสุขอนามัยที่ดีของพระสงฆ์ และทำบุญอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากการใช้ถุงผ้าจับจ่ายซื้อของทำบุญ แทนการใช้ถุงพลาสติกหลาย ๆ ใบ เลือกอาหารปรุงสำเร็จเน้นมีประโยชน์ ปรุงสุกใหม่ หากทำอาหารไปถวายพระสงฆ์ ควรเน้นเรื่องความสะอาด ล้างมือก่อนปรุงประกอบอาหาร ไม่ใช้กล่องโฟมบรรจุอาหารถวายพระสงฆ์ เพื่อลดขยะที่ย่อยสลายยาก และปลอดภัยต่อสุขภาพ การจัดเตรียมของทำบุญหรือซื้อถังสังฆทานแบบสำเร็จรูป ควรตรวจดูสภาพและวันหมดอายุ เพื่อให้ได้ของที่มีคุณภาพ น้ำดื่มบรรจุขวดต้องมีฝาปิดสนิท ไม่มี สิ่งแปลกปลอมอยู่ในขวด และมีเครื่องหมาย อย. ที่ฉลาก ไม่ควรนำสิ่งของเครื่องใช้ที่มีส่วนผสมของสารเคมีหรือสารพิษที่เป็นอันตรายใส่รวมไปพร้อมกับอาหารและเครื่องดื่ม เพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่อาจเกิดจากการรั่ว แตก ฉีกขาด หรือเปียกชื้นของบรรจุภัณฑ์ สิ่งของเครื่องใช้ที่จะนำไปถวายพระสงฆ์ต้องมีคุณภาพ ใช้งานได้จริง และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพระสงฆ์ เพื่อลดการทิ้งให้เป็นขยะ ปลอดภัยต่อสุขภาพ และคนทำบุญได้บุญอย่างแท้จริง
“สำหรับอาหารที่พระสงฆ์ไม่สามารถฉันได้หมด จะต้องเก็บใส่ในภาชนะที่สะอาด มีการปกปิด และใส่ในตู้เย็น หากจะนำมาฉันอีกครั้ง จะต้องอุ่นให้ร้อนอย่างทั่วถึง ส่วนอาหารแห้ง อาหารที่บรรจุในภาชนะที่เป็นโลหะ แก้ว พลาสติก หรือกระดาษ ต้องเก็บไว้ในที่สะอาดและป้องกันสัตว์ แมลงพาหะนำโรคได้ ส่วนข้าวสาร ให้เก็บในภาชนะที่โปร่ง แห้ง สะอาด แยกสัดส่วน สูงจากพื้นอย่างน้อย 30 เซนติเมตร นอกจากนี้ ก่อนนำบาตร จาน ชาม ช้อนไปใช้ ควรตรวจดูว่าอยู่ในสภาพที่สะอาดเสมอ เมื่อใช้ภาชนะเสร็จ ก่อนล้างควรกวาดเศษอาหารทั้งหมดทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด แล้วล้างภาชนะ ด้วยน้ำผสมน้ำยาล้างจาน เพื่อล้างคราบไขมัน เศษอาหาร และสิ่งสกปรกที่ติดค้างอยู่ โดยใช้ฟองน้ำหรือ แผ่นใยสังเคราะห์ช่วยในการทำความสะอาด แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีก 2 ครั้ง เพื่อล้างน้ำยาล้างจานและสิ่งสกปรกต่างๆ ที่ยังค้างอยู่ออกให้หมด แล้วคว่ำให้แห้งเอง หรือผึ่งตากในที่ที่มีแสงแดดส่องถึงเพื่อฆ่าเชื้อโรคและบริเวณที่คว่ำต้องไม่มีฝุ่น สิ่งสกปรก หรือแมลงวัน โดยคว่ำบนตะแกรงหรือตะกร้า ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดเพราะอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนจากสิ่งสกปรกที่ติดกับผ้าได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 22 ตุลาคม 2561