กรมอนามัย ย้ำร้านค้า-รถเข็น ปฏิบัติตามประกาศของ สธ. พร้อมแนะจุดสังเกตผลไม้รถเข็น เลือกที่สะอาด ปลอดภัย

  • 11 สิงหาคม 2566

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะจุดสังเกตผลไม้รถเข็นและร้านค้าต่างๆ ย้ำควรเลือกซื้อผลไม้สดที่สะอาดถูกสุขอนามัย ไม่มีสีสดจัดผิดธรรมชาติ ลดความเสี่ยงการเกิดโรค พร้อมย้ำให้ร้านค้า รถเข็นปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีโพสต์ของกลุ่มผู้บริโภค ที่ซื้อสับปะรดมาจากร้านแห่งหนึ่ง และพบว่าสับปะรดดังกล่าวสีตกเป็นสีเหลืองคล้ายกับสีผสมอาหาร จากการ
บีบสับปะรดมีสีเหลืองตกค้างในถุงพลาสติก และเนื้อสับปะรดยังมีรสหวานจัด ซึ่งสงสัยว่ามีการแช่ขัณฑสกร ซึ่งเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล และให้ความหวานสูงกว่าปริมาณน้ำตาลมาก ซึ่งหากประชาชนรับประทานติดต่อกับเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลต่อสุขภาพได้ กรมอนามัยจึงขอย้ำเตือนผู้ประกอบการร้านค้า และรถเข็น ตามข้อกำหนด ผลไม้สดที่ปอกเปลือกหรือตัดแต่งสำหรับจําหน่ายให้แก่ผู้บริโภค เป็นอาหาร ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) ไม่อนุญาตให้ใช้สี หรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในผลไม้สด ดังนั้น หากตรวจพบการใช้วัตถุเจือปนอาหาร ไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด จัดเป็นการฝ่าฝืนประกาศซึ่งออกตามมาตรา 6(4) (5) ต้องระวางโทษตามมาตรา 47 ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลไม้สดตัดแต่งที่ไม่มีสีสดจัดผิดธรรมชาติ หากพบว่ามีสีสดผิดธรรมชาติ หรือมีรสหวานจัดควรหลีกเลี่ยงการบริโภค ไม่ควรกินผักหรือผลไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นประจำ ควรกินให้หลากหลายหมุนเวียนกันไป และบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม หากผู้บริโภคพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานหรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภคสามารถร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วน อย. โทร. 1556 หรือ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ที่สำคัญผู้ประกอบการต้องระวังการสัมผัสผลไม้ด้วยมือที่ไม่สะอาดเพราะอาจปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ตามผิวหนังได้ รวมทั้ง ความสกปรกของอุปกรณ์ที่หั่นผลไม้ หากไม่ได้ล้างมือให้สะอาดแล้วไปหยิบจับผลไม้ ก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อโรคได้ ซึ่งเชื้อโรคดังกล่าวสามารถสร้างสารพิษ เอนเทอโรทอกซิน (Enterotoxin) ที่ทนความร้อนได้ดี จึงทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายเหลว หรืออุจจาระร่วงเฉียบพลัน ส่งผลในร่างกายเกิดอาการขาดน้ำ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดความดันโลหิตต่ำหรือช็อกได้ นอกจากนี้ สุขลักษณะของรถเข็นผลไม้ที่ถูกหลักสุขาภิบาลอาหาร หรืออาหารที่วางขายอยู่ริมถนน จะต้องสูงกว่าพื้นประมาณ 60 เซนติเมตร หากวางกับพื้น เมื่อเปิดฝาไว้ อาจจะมีฝุ่นละอองตกลงไป สำหรับภาชนะที่ใส่ผลไม้ต้องสะอาด ปราศจากเชื้อรา น้ำแข็งที่เอามาแช่ก็ต้องสะอาด เนื่องจากเชื้อโรคอาจมากับน้ำแข็ง และปนเปื้อนไปกับผลไม้ได้ ส่วนผลไม้ที่เอามาวางขาย เมื่อปอกแล้วต้องล้างให้สะอาด เก็บไว้ในภาชนะที่สะอาดเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคปนเปื้อนได้

“สำหรับวิธีการเลือกซื้อ ควรเลือกสับปะรดที่ดี ซึ่งจะมีเนื้อแน่น และก็นุ่มพอที่จะกดลงไปได้นิดหน่อย แต่ไม่นุ่มจนกดแล้วบุ๋มลงไป สังเกตขั้วของสับปะรด และใบของหัวด้านบนสับปะรด ไม่ควรเหี่ยว หรือออกสีน้ำตาลเข้ม ควรมีใบสีเขียว สับปะรดที่ไม่ดี คือสับปะรดที่มีผิวเหี่ยวย่น มีสีน้ำตาลแดง มีรอยแตกหรือรอยรั่ว ขึ้นรา หรือมีใบเหี่ยวเป็นสีน้ำตาล ผิวด้านนอกของสับปะรดควรมีตากว้างและแบน ขนาดเท่าๆ กัน และควรสังเกตสีของสับปะรดที่เราซื้อ หากมีสีที่ผิดปกติไป ควรหลีกเลี่ยงในการเลือกซื้อรับประทาน นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนสังเกตร้านที่สะอาดถูกสุขอนามัย ดูผู้ขายว่ามีการสวมถุงมือป้องกันที่ถูกต้อง อุปกรณ์ต่าง ๆ สะอาด ส่วนของเครื่องจิ้ม ทั้งพริกเกลือ กะปิหวาน แนะนำเป็นไม่ควรบริโภคมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง โรคไต หรือไตทำงานหนัก” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 11 สิงหาคม 2566

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!