กรมอนามัย แนะ ประชาชนเลือกทำกิจกรรมทางกาย ช่วงเช้าหรือเย็น เลี่ยงโรคฮีทสโตรก

  • 6 เมษายน 2566

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ ประชาชนเลือกทำกิจกรรมทางกายกลางแจ้ง ช่วงเช้าหรือเย็น เลี่ยงโรคฮีทสโตรก ในช่วงหน้าร้อน หรือเลือกทำกิจกรรมในอาคารหรือในที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และควรสวมชุดที่ระบายเหงื่อและความร้อนได้ดี และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ

                 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนหันมาดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น โดยเลือกทำกิจกรรมทางกายกลางแจ้งในสวนสาธารณะมากขึ้น เช่น วิ่ง แอโรบิก ปั่นจักรยานเดินออกกำลังกาย ซึ่งช่วงหน้าร้อน สภาพอากาศมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ที่ทำกิจกรรมในที่กลางแจ้ง  เสี่ยงเกิดโรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) ได้ง่ายมากขึ้น โดยอาการของโรคนี้คือ 1) เหงื่อไม่ออก 2) สับสน มึนงง  3) ผิวหนังเป็นสีแดง และ 4) ตัวร้อนจัด หากพบผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวควรทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น กรณีผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ให้พาผู้ป่วยหลบเข้าที่ร่ม ในรถ หรือห้องที่มีความเย็น ให้นอนราบ ยกเท้าและสะโพกสูง ถอดเสื้อผ้าให้เหลือเท่าที่จำเป็น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ใช้พัดลมเป่าหรือวางถุงน้ำแข็งที่คอ รักแร้ ขาหนีบ และข้อพับต่างๆ  หากผู้ป่วย เป็นลม หมดสติ หายใจไม่สม่ำเสมอหรือหายใจช้าผิดปกติ ควรนำส่งโรงพยาบาลทันที ถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้คลำชีพจร และรีบช่วยฟื้นคืนชีพและนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อรักษาอย่างเร่งด่วน หรือโทร 1669

               นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ประชาชนควรปรับเวลาหรือลดเวลาการมีกิจกรรมทางกายกลางแจ้งในช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัด เช่น ทำกิจกรรมทางกายในช่วงเช้าและช่วงเย็น หรือเลือกทำกิจกรรมในอาคารหรือในที่ร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก และควรสวมชุดที่ระบายเหงื่อและความร้อนได้ดี และดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะโรคฮีทสโตรก ควรหลีกเลี่ยงอยู่กลางแจ้งในสภาพอากาศที่ร้อนจัด ได้แก่ 1) กลุ่มคนที่ทำงานกลางแจ้งที่สัมผัสกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2) กลุ่มนักวิ่งมาราธอนต่างๆ ที่จะต้องสัมผัสอากาศที่ร้อนหรือความชื้นที่สูงทำให้ไม่สามารถขับเหงื่อได้ 3) คนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และคนที่ดื่มน้ำน้อย ควรหลีกเลี่ยงการกิจกรรมทางกายในที่กลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด 

               “นอกจากนี้ กลุ่มเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด โดยให้อยู่ในสภาพแวดล้อมหรือพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ควรให้ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคอ้วน ออกกำลังกายกลางแจ้งหรือทำกิจกรรมที่เหนื่อยจนเกินไป ส่วนหญิงตั้งครรภ์หากต้องเดินทางไกลควรมีผู้ดูแล ร่วมเดินทางด้วยเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดและป้องกันอุบัติเหตุหากมีอาการหน้ามืด วิงเวียน หรือเป็นลม เมื่อเจออากาศที่ร้อนจัดภายนอก และไม่ควรทิ้งเด็กหรือผู้สูงอายุให้อยู่ในรถที่ปิดสนิทจอดและกลางแจ้งตามลำพัง เป็นเวลานาน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

กรมอนามัย /  6  เมษายน 2566

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH