กรมอนามัย แนะโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ทำความสะอาด-เตรียมห้องปลอดฝุ่นรับมือ PM2.5 ช่วงเปิดเทอม

  • 24 ตุลาคม 2562

          กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงวันเปิดเทอม แนะนำให้โรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เตรียมพร้อม   ทำความสะอาดตั้งแต่ก่อนเปิดเทอม พร้อมทั้งจัดให้มีห้องปลอดฝุ่น (Cleaner air shelter) เพื่อช่วยเด็กลดความเสี่ยงสูดฝุ่นเข้าสู่ร่างกาย

          แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงควร    เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้หลายโรงเรียนเริ่มทยอยเปิดเทอม     ทำให้เด็กวัยเรียนและกลุ่มเด็กที่อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยง ต้องได้รับการดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ เนื่องจากเด็กมีอัตราการหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ และปอดยังพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ร่างกายได้รับมลพิษมากขึ้น ซึ่งส่งผล กระทบต่อสมรรถนะของปอดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางระบบประสาทและความสามารถทางปัญญาของเด็กโดยขอความร่วมมือโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทำความสะอาดพื้นที่ก่อนเปิดเทอมและจัดทำห้องปลอดฝุ่น (Cleaner air shelter) เพื่อช่วยให้เด็กได้รับอากาศที่สะอาด

          แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า การจัดทำห้องปลอดฝุ่น (Cleaner air shelter) นั้น มีวิธีการปฏิบัติดังนี้ 1) เลือกห้องที่ห่างจากแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองเช่น ถนน ลานจอดรถ พื้นที่ก่อสร้าง และไม่มีกิจกรรม    ที่จะก่อให้เกิดมลพิษภายในห้อง เช่น จุดเทียน จุดธูป นอกจากนี้ ควรเป็นห้องที่มีประตูหรือหน้าต่างน้อยที่สุด    และหลีกเลี่ยงอุปกรณ์ที่เป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละอองภายในห้อง เช่น พรม หนังสือ ตุ๊กตา เป็นต้น 2) ลดฝุ่น      โดยการปิดประตู หน้าต่างให้มิดชิด และปิดช่องหรือรูอากาศด้วยวัสดุปิดผนึก เช่น ซีลประตู หรือเทปปิดร่องประตูหรือหน้าต่าง เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศภายนอกเข้าไปในห้อง และ 3) ทำความสะอาดห้องด้วยผ้าชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดหรือถู ไม่ควรใช้ไม้กวาดหรือเครื่องดูดฝุ่นเพราะจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย เปิดพัดลมเพื่อหมุนเวียนอากาศภายในห้องสำหรับห้องที่มีเครื่องปรับอากาศควรตรวจสอบทำความสะอาดหน้ากากเครื่องปรับอากาศและแผ่นกรองอากาศทุกเดือน ล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง และอาจเพิ่มประสิทธิภาพการลดฝุ่นในห้องเช่น การใช้เครื่องฟอกอากาศ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวควรมีขนาดที่เหมาะสมกับห้อง

          “ทั้งนี้ นักเรียนที่ป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ หรือหอบหืดควรให้อยู่ภายในอาคารหรือห้องปลอดฝุ่น และต้องได้รับการดูแลจากคุณครูอย่างใกล้ชิด และช่วงที่ประสบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 โรงเรียนควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การเข้าแถวหน้าเสาธง การออกกำลังกายกลางแจ้ง และมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้ 1) งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิด PM 2.5 โดยขอความร่วมมือผู้ปกครองจอดรถรับ-ส่งนอกสถานศึกษา หากจำเป็นต้องนำรถเข้ามาจอด ให้ดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถ 2) ขอความร่วมมือร้านค้าแผงลอย ปิ้งย่างโดยใช้เตาไร้ควัน และ 3) ปลูกต้นไม้บริเวณโรงเรียนหรือจัดสวนแนวตั้ง เพื่อดักฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ และที่สำคัญคุณครูควรสื่อสารข้อมูลสถานการณ์มลพิษทางอากาศและวิธีการป้องกันตนเองแก่นักเรียนอยู่เสมอ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 24 ตุลาคม 2562

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!