#ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะซื้ออาหารไหว้เจ้าให้ปลอดภัย เป็ด ไก่ ไข่ ต้องสดใหม่และ หากต้องนำอาหารที่ใช้เซ่นไหว้มาปรุงบริโภคภายในครอบครัว ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทหนังสัตว์ ส่วนติดมัน อาหารที่มีรสหวาน มันหรือเค็มจัด
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีนการซื้ออาหาร เซ่นไหว้ต้องเลือกให้ปลอดภัย โดยเฉพาะเป็ด ไก่ ต้องสดใหม่ ไม่มีสีคล้ำ ผิวหนังหรือเครื่องในไม่มีจ้ำเลือด ก่อนกินควรนำมาปรุงให้สุกอีกครั้ง เพราะปกติสัตว์ปีกเหล่านั้นมักนิยมต้มแบบไม่ให้สุกมาก ส่วนเนื้อหมูต้องมีสีแดงธรรมชาติ เมื่อกดดูเนื้อไม่กระด้าง ไม่ควรกินเนื้อหมูกึ่งสุกกึ่งดิบ ไข่ไก่และไข่เป็ดควรเลือกฟองที่ดูสดใหม่ ไม่มีมูลไก่หรือเป็ดติดเปื้อนที่เปลือก ก่อนปรุงควรนำมาเช็ดให้สะอาด ส่วนเจ้าของฟาร์มหรือผู้จำหน่ายสัตว์ปีก หากสัตว์ที่เลี้ยงไว้มีอาการป่วย เช่น หงอย ซึม หรือสีคล้ำ มีจุดเลือดออกตามหน้าแข้ง ให้สงสัยว่าเป็นโรคได้ และห้ามนำมาชำแหละขายเด็ดขาด สำหรับผักและผลไม้ ก่อนกินหรือนำมาปรุงอาหารต้องล้างให้สะอาด ทุกครั้ง โดยให้ล้างผ่านน้ำก๊อกที่ไหลนาน 2 นาที หรือแช่ในน้ำผสมเกลืออัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมน้ำส้มสายชู อัตราส่วนครึ่งถ้วยตวงต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต (เบคกิ้งโซดา) อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 10–15 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่า 2 ครั้ง สำหรับผักบางชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปล้างน้ำหลาย ๆ ครั้ง และคลี่ใบ ถูหรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านอ่างน้อย 2 นาที เพื่อความสะอาดและลดการปนเปื้อน
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า หลังเสร็จพิธีเซ่นไหว้ ประชาชนจะนำของไหว้ อาทิ เป็ด ไก่ หมู มาปรุงเป็นอาหารบริโภคภายในครอบครัวเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งเมนูเป็ด ไก่ หมู หากจะกินให้ได้สารอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการ ควรเลือกกินร่วมกับข้าวและกินร่วมกับเมนูอื่นที่มีผัก เป็นส่วนประกอบ เช่น ผัดผัก แกงจืด หรือกินคู่กับผักสดต่าง ๆ ซึ่งเมนูที่นิยม ได้แก่ พะโล้ 1 ถ้วย ให้พลังงานประมาณ 358 กิโลแคลอรี เมื่อทานร่วมกับข้าวสุก ปริมาณ 2 ทัพพี จะให้พลังงาน 518 กิโลแคลอรี ข้าวมันไก่ 1 จาน ให้พลังงาน 585–619 กิโลแคลอรี หากเปลี่ยนจากข้าวมันเป็นข้าวสวย ให้พลังงานเหลือ 505–539 กิโลแคลอรี ควรหลีกเลี่ยงการกินหนังหรือส่วนที่ติดมัน จิ้มน้ำจิ้มแต่น้อย เพื่อลดปริมาณโซเดียม สำหรับผู้ที่ชอบกินของหวาน เช่น จันอับ ขนมไข่ ขนมถ้วยฟู ซาลาเปา ขนมสาลี่ ควรเลี่ยงบริโภคหรือ บริโภคแต่น้อย เพราะมีส่วนผสมของแป้งและน้ำตาลเป็นหลัก หากกินน้ำตาลหรืออาหารหวานมากเกินไป พลังงานที่ใช้ไม่หมดจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในร่างกาย ส่งผลให้มีน้ำหนักเกิน อ้วน และทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา ส่วนขนมเทียน ขนมเข่ง ควรกินอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและเด็กเล็ก เพราะมีความเหนียว เคี้ยวยาก อาจทำให้ติดคอได้ง่าย
“สำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมัน ในเลือดสูง โรคเกาต์ ควรเลือกกินอาหารที่ปรุงด้วยการต้ม อบ ยำ แทนการทอดหรือผัด เลี่ยงเนื้อสัตว์ติดหนัง ติดมัน หมูสามชั้น ขนมต่าง ๆ รวมถึงลดการจิ้มซีอิ๊วและน้ำปลา เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง และโรคไต ให้เลือกกินอาหารที่หลากหลาย ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อสุขภาพที่ดี และช่วยให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 24 มกราคม 2563