Warning: Undefined variable $bg in D:\wwwroot\multimedia\wp-content\themes\anamai_2021_v1_0_1\single.php on line 28
>

กรมอนามัย ชี้ เห็ดมีประโยชน์ทางโภชนาการ แต่ต้องสังเกตให้ดี หวั่นเก็บเห็ดพิษกิน

  • 21 มิถุนายน 2562

         #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย ประโยชน์ของเห็ด อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ แนะเลือกกินเห็ดที่กินเป็นประจำ เลี่ยงเห็ดแปลกที่เป็นภัยถึงชีวิต เพื่อความปลอดภัย พร้อมย้ำ ล้างให้สะอาด ปรุงสุกก่อนกิน

          แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีหนุ่มจังหวัดน่านกินเห็ดพิษเข้าไปแล้วมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว อาเจียน ต้องหามส่งโรงพยาบาลและเสียชีวิตนั้น ประชาชนที่กินเห็ดในช่วงนี้ จึงขอให้ระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากในช่วงฤดูฝนของทุกปีจะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเห็ดที่มีพิษรุนแรงถึงชีวิตที่พบบ่อยคือ เห็ดระโงกหิน เห็ดระงากหรือเห็ดสะงาก และเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับเห็ดระโงกที่กินได้ จึงควรสังเกตให้ดีและหลีกเลี่ยงเห็ดที่มีสีน้ำตาลเห็ดที่ปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีปุ่มปม เห็ดที่มีหมวกสีขาว เห็ดที่มีหมวกเห็ดเป็นรูๆ แทนที่จะเป็นช่องๆ คล้ายครีบปลา เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่ขึ้นในมูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์ ที่สำคัญไม่ควรเก็บหรือซื้อเห็ดป่าที่ไม่รู้จักมาปรุงอาหารหรือกินเห็ดดิบ

          “ทั้งนี้ เห็ดมีประโยชน์ทางโภชนาการ เป็นแหล่งโปรตีนที่ดีมีใยอาหาร โปแตสเซียมสูง มีโซเดียมและน้ำตาลต่ำ และยังอุดมไปด้วยวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินบี ซึ่งจะช่วยควบคุมการทำงานของระบบย่อยอาหาร เป็นแหล่งแร่ธาตุที่สำคัญ เช่น ซิลิเนียม ทำหน้าที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โปแตสเซียมทำหน้าที่ควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ สมดุลของน้ำในร่างกาย การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาทต่างๆ มีทองแดง ทำหน้าที่ช่วยเสริมการทำงานของธาตุเหล็ก นอกจากนี้ เห็ดยังประกอบด้วยโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) เช่น กลูแคน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยบางชนิดทำปฏิกิริยาร่วมกับแมคโครฟาจ (macrophage) ที่คอยทำหน้าที่ทำลายเซลล์แปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย รวมถึงพวกไวรัสและแบคทีเรียอื่นๆ ซึ่งเห็ดที่มีโพลีแซคคาไรด์สูง ได้แก่ เห็ดหอม เห็ดนางรม เห็ดหูช้าง และเห็ดกระดุม   เป็นต้น และยังมีเห็ดอื่นๆ ที่นิยมนำมาบริโภค เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู เห็ดแชมปิญอง เห็ดโคน เห็ดออรินจิและเห็ดเข็มทอง ที่สำคัญ ก่อนนำเห็ดมาปรุงอาหาร ต้องล้างน้ำให้สะอาดหลายๆ ครั้ง หรือล้างตามขั้นตอนการล้างผัก หลังจากนั้นค่อยนำมาปรุงอาหาร และปรุงให้สุกทุกครั้ง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 21 มิถุนายน 2562

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!