#ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ โรงเรียนเตรียมความพร้อมด้านสุขาภิบาลอาหารและน้ำในห้องครัว โรงอาหาร ทำความสะอาด เครื่องกรองน้ำ ตู้กดน้ำดื่ม ก่อนเปิดเรียน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงเปิดเทอม โรงเรียนจะต้องเตรียมการด้านสุขาภิบาลอาหารในห้องครัว โรงอาหาร ผู้สัมผัสอาหาร และการจัดการคุณภาพน้ำบริโภค เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยผู้รับผิดชอบต้องจัดเตรียมห้องครัว โรงอาหาร และผู้สัมผัสอาหารตามมาตรการการปฏิบัติที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ ดังนี้ 1) บริเวณทางเข้าโรงอาหาร จัดให้มีอ่างล้างมือพร้อมสบู่ สำหรับให้บริการแก่ผู้เข้ามาใช้บริการ 2) ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ที่นั่งกินอาหาร จุดรับอาหาร จุดซื้ออาหาร จุดรอกดน้ำดื่ม จัดให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1–2 เมตร 3) โรงเรียนอาจจัดเหลื่อมช่วงเวลาปล่อยพักรับประทานอาหารกลางวัน เพื่อลดความแออัดพื้นที่ภายในโรงอาหาร 4) ทำความสะอาดห้องครัว โรงอาหาร ด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือผงซักฟอก และฆ่าเชื้อด้วยโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 6 เปอร์เซ็นต์ อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 ลิตร ส่วนภาชนะ อุปกรณ์ เช่น จาน ถาดหลุม ช้อน ส้อม แก้วน้ำส่วนตัว ให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างจาน และฆ่าเชื้อด้วยการแช่ในน้ำร้อน 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 วินาที หรือแช่ด้วยโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 6 เปอร์เซ็นต์ อัตราส่วนครึ่งช้อนชาต่อน้ำ 1 ลิตร 1 นาที แล้วล้างน้ำให้สะอาดและอบหรือผึ่งให้แห้ง ก่อนนำไปใช้ใส่อาหาร และ 5) เมนูอาหารเน้นปรุงสุกใหม่ หากรอการจำหน่ายให้นำมาอุ่นทุก 2 ชั่วโมง มีการปกปิดอาหาร วางสูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร
“สำหรับผู้สัมผัสอาหารต้องแต่งกายให้สะอาด สวมใส่ผ้ากันเปื้อน สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย รักษาความสะอาดของมือ ด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ ทั้งก่อนและหลังปรุงประกอบอาหาร รวมถึงหลังจากการจับเหรียญหรือธนบัตร หรือสัมผัสสิ่งสกปรก หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น ใช้อุปกรณ์ในการปรุงประกอบอาหาร เช่น เขียง มีด การหยิบจับอาหาร แยกระหว่างอาหารสุก อาหารประเภทเนื้อสัตว์สด ผักและผลไม้ และไม่เตรียม ปรุง ประกอบอาหารบนพื้นโดยตรง หากมีอาการป่วย ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รส ให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที ส่วนการจัดเตรียมน้ำดื่ม น้ำใช้ ควรสำรวจความชำรุด บกพร่อง การแตกรั่วของระบบน้ำดื่มน้ำใช้ในโรงเรียน ได้แก่ ระบบท่อ ถังสำรองน้ำ ตู้กดน้ำดื่ม รวมไปถึงเครื่องกรองน้ำให้พร้อมใช้งาน หากชำรุดบกพร่องต้องรีบดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง ทำความสะอาดถังน้ำ ภาชนะใช้บรรจุน้ำดื่ม ตู้กดน้ำดื่ม ก๊อกน้ำดื่ม ทำการล้างย้อน (Backwash) หรือเปลี่ยนไส้กรองเครื่องกรองน้ำ สุดท้ายฆ่าเชื้อโรคด้วยโซเดียมไฮโปคลอไรท์เช่นเดียวกับภาชนะใส่อาหาร ก่อนนำมาใช้หรือบรรจุน้ำ ตรวจสอบปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำประปาที่ใช้ในโรงเรียนให้มี 0.5-1 มิลลิกรัมต่อลิตร หากต่ำกว่านี้ควรแจ้งหน่วยงานผู้ผลิตน้ำประปา นอกจากนี้ ควรตรวจเช็คความชำรุดเสียหายของสายดิน ระบบไฟฟ้าตามจุดต่าง ๆ ของตู้กดน้ำดื่ม โดยเฉพาะบริเวณก๊อกน้ำที่ถือเป็นจุดเสี่ยงเพื่อป้องกันไฟฟ้าดูดขณะใช้งาน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 17 มิถุนายน 2563