Warning: Undefined variable $bg in D:\wwwroot\multimedia\wp-content\themes\anamai_2021_v1_0_1\single.php on line 28
>

กรมอนามัย ห่วง ชุมชน-ท้องถิ่น ส่งเสริมความเข้มแข็ง อปท. จัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม ป้องกัน โควิด-19

  • 16 เมษายน 2563

           #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ออกคำแนะนำการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประเภทสถานประกอบการและกิจการ สถานบริการ สถานที่สาธารณะในชุมชน การจัดการมูลฝอย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในชุมชน

          แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 และมีผู้เสี่ยงสัมผัสเชื้อโรค กระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ในขณะนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะหน่วยงานระดับพื้นที่ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย ทั้ง พรบ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และ พรบ. ควบคุมโรคติดต่อพ.ศ. 2558 ถือเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญมากในสถานการณ์เช่นนี้  ที่จะช่วยดูแลสุขภาพประชาชนและป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ทั้งในระยะการระบาดของโรคฯ และในอนาคตเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง ท้องถิ่น    ก็จะยิ่งมีบทบาทในการฟื้นฟู ดูแล การเปิดพื้นที่เมืองและชุมชน เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตและประกอบอาชีพตามเดิม ได้อย่างมั่นใจ ซึ่งขณะนี้กรมอนามัยได้จัดทำคำแนะนำสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสถานประกอบการและกิจการ สถานบริการ สถานที่สาธารณะในชุมชน การจัดการมูลฝอยที่จะมีมากขึ้น รวมถึงการให้ความรู้และการดูแลประชาชนในพื้นที่ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 และสร้างความมั่นใจให้กับชุมชน โดยขอให้ดำเนินการ ดังนี้ 1) ควบคุม กำกับ ดูแลสุขลักษณะสถานประกอบการและกิจการ ในพื้นที่รับผิดชอบ ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และตามประกาศคำสั่งจังหวัด โดยดำเนินการควบคุม กำกับ การดูแลรักษาความสะอาดป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโรคอย่างเคร่งครัด ภายในสถานประกอบการและกิจการ โดยจัดเตรียมอุปกรณ์ในการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล และการป้องกันตนเองสำหรับผู้ประกอบการ และผู้มารับบริการตามมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อโควิด-19 ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

           “2) ควบคุม กำกับ ดูแลสถานที่สาธารณะในชุมชน สถานที่แออัด อาทิ ศาสนสถาน สถานีขนส่งโดยสาร ตลาดนัด เป็นต้น โดยผู้ประกอบการต้องจัดจุดล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ และทำความสะอาดพื้นที่อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยง เช่น จุดให้บริการน้ำดื่มในสถานที่สาธารณะ โต๊ะ เก้าอี้ และห้องน้ำสาธารณะ 3) การจัดการมูลฝอย ต้องคัดแยกระดับครัวเรือน การเก็บรวบรวม และการกำจัด ตามคำแนะนำการจัดการมูลฝอยสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจัดจุดรวบรวม มูลฝอย พร้อมภาชนะรองรับที่มีฝาปิดอย่างเพียงพอและทั่วถึง กรณีมูลฝอยที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย สารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู ต้องใส่ถุงขยะ 2 ชั้น โดยถุงขยะใบแรกที่บรรจุมูลฝอยแล้วให้ราดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว มัดปากถุงให้แน่นและซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น มัดปากถุงให้แน่น นำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไป หรือจัดเก็บรวบรวมแยกไว้เฉพาะตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนด” แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าว

           อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า สำหรับผู้ปฏิบัติงานเก็บขน หรือกำจัดมูลฝอย ต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ถุงมือยางหนา ผ้ายางกันเปื้อน และรองเท้าบูทพื้นยาง ขณะปฏิบัติงาน หากพบมีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องให้ความรู้คำแนะนำกับประชาชนในการดูแลรักษาความสะอาดบ้านเรือน รวมถึงขอความร่วมมือให้ประชาชนและชุมชนมีการเฝ้าระวังสุขภาพของตนเอง สมาชิกในครอบครัว และเพื่อนบ้านในชุมชน หากพบคนในชุมชนที่มีอาการไข้ ไอ หรือเหนื่อยหอบ หรือมีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยตามขั้นตอนต่อไป

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 16 เมษายน 2563

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH