#ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นำ 2 วาระเข้าที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ครั้งที่ 1/2563 เบื้องต้นผ่านความเห็นชอบในหลักการทั้ง 2 วาระคือ 1) ร่างกฎกระทรวงกำหนดสิทธิในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. …. และ 2) กลไกการดูแล ช่วยเหลือ และจัดการกรณีมีการร้องเรียน
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมฯ ซึ่งมี 2 วาระที่ผ่านการเห็นชอบในหลักการจากคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น คือ 1) ร่างกฎกระทรวงกำหนดสิทธิในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นของราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. …. ที่กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ในการออกข้อกำหนดท้องถิ่นเพื่อดำเนินการให้วัยรุ่นได้รับสิทธิตามกฎหมาย ดำเนินการให้วัยรุ่น ได้รับสิทธิด้านบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ การให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ส่งต่อให้ได้รับบริการ สนับสนุนภารกิจของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งสถานศึกษา สถานบริการ หน่วยงานด้านการจัดสวัสดิการทางสังคม และหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องในเขตราชการส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการจัดทำแผนงานโครงการและงบประมาณเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และ 2) กลไกการดูแล ช่วยเหลือ และจัดการกรณีมีการร้องเรียน โดยที่พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 มุ่งหมายป้องกันปัญหาและให้ความช่วยเหลือวัยรุ่นที่ประสบปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ ทั้งด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพอนามัย การช่วยเหลือด้านความเป็นอยู่ในครอบครัว อาชีพ รายได้ ตลอดจนความช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ซึ่งได้มีบทบัญญัติกำหนดอำนาจหน้าที่ในการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในกฎหมายแม่บทและกฎกระทรวง ดังนั้น หากวัยรุ่นประสบปัญหา ก็มีช่องทางในการให้วัยรุ่นสื่อสารมาเพื่อขอรับความคุ้มครองช่วยเหลือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อาทิ การไม่ได้รับโอกาสในการศึกษาต่อ การขอความช่วยเหลือด้านที่พักอาศัยขณะตั้งครรภ์ การเข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิด การฝากครรภ์ และคลอด การขอความช่วยเหลือในการเลี้ยงดูบุตร เป็นต้น
“ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ 1) การพัฒนาระบบดูแล ช่วยเหลือ ส่งต่อ และคุ้มครองสิทธิวัยรุ่นแบบบูรณาการ โดยกำหนดแนวทางการบริหารจัดการในรูปแบบ Case manager โดยใช้ระบบปฏิบัติการกลางช่วยในการจัดการข้อมูล 2) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลร่วมด้านสุขภาพนักเรียนระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยให้ทราบข้อมูลนักเรียนหญิงที่ตั้งครรภ์และคลอดได้เรียนต่อในสถานศึกษาเดิม 3) การบริการยุติการตั้งครรภ์ด้วยยาผ่านระบบ โทรเวชกรรม เพื่อช่วยให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตที่อาจจะเกิดขึ้นจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติ ทั้งนี้ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านศูนย์อนามัยและยกระดับความร่วมมือเป็นระบบเขตสุขภาพ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 13 กรกฎาคม 2563