#ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนในช่วงที่อากาศร้อนจัดให้สังเกตการบูดเน่าของอาหาร โดยการดูและดม หากพบผิดปกติควรเลี่ยง โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงด้วยกะทิ และปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ เน้นบริโภคอาหารปรุงสุกใหม่ๆ เพื่อป้องกันโรคอุจาระร่วง อาหารเป็นพิษตามมา
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ประชาชนต้องใส่ใจในเรื่องความสะอาดของอาหารและน้ำดื่มเป็นพิเศษในช่วงอากาศร้อน เนื่องจากอุณหภูมิสูงขึ้นทำให้เชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหารเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้หลายเมนูอาหารอาจบูดเสียได้ง่ายและเสี่ยงต่อการเกิดโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษตามมา เช่น อาหารที่ปรุงด้วยกะทิ อาหารที่ปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารบรรจุถุง นอกจากนี้หากมีอาหารเหลือระหว่างมื้อควรใส่ภาชนะที่สะอาด มีฝาปิด เก็บไว้ในตู้เย็น ในเบื้องต้นหากจะกินอาหารอะไร ควรสังเกต ลักษณะที่เปลี่ยนไปด้วยการดูและดม เช่น มีฟองอากาศ กลิ่นเหม็นบูด รสชาติเปรี้ยวผิดปกติก็ไม่ควรนำมากิน น้ำดื่มหากเป็นน้ำประปาควรมีกลิ่นคลอรีนซึ่งบ่งบอกว่ามีการฆ่าเชื้อโรค เพียงแค่นำมาใส่ภาชนะทิ้งไว้ 30 นาที กลิ่นคลอรีนก็จะหายไป เลือกดื่มน้ำที่บรรจุขวดที่ได้มาตรฐานมีเลขสาระบบอาหาร (อย.) ส่วนน้ำแข็งต้องเป็นน้ำแข็งสำหรับบริโภคที่ได้มาตรฐานมีเลขสาระบบอาหาร (อย.) เช่นเดียวกัน
“อาหารที่ปรุงเสร็จหากยังไม่กินทันที ควรใส่ในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิดหรือมีการปกปิด วางให้สูง จากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร หากเก็บไว้นานเกิน 2-4 ชั่วโมง ควรนำมาอุ่นให้เดือดก่อนนำมากิน ส่วนอาหาร ที่ไม่สามารถอุ่นได้ เช่น ยำ พล่า ควรปรุง ประกอบในปริมาณเท่าที่จะกินเท่านั้น ไม่ควรทำทิ้งไว้นานๆ และยึดหลักล้างมือ กินร้อน ช้อนส่วนตัว เพื่อลดความเสียงจากโรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษ ซึ่งจากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วงเดือนมกราคม – เมษายน 2563 ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วง 271,932 ราย โดยอาการของผู้ป่วยจะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระ คอแห้งกระหายน้ำ และอาจมีไข้ หากอาการ ไม่รุนแรงควรให้ดื่มสารละลายเกลือแร่ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากอาการต่าง ๆ ไม่ดีขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 12 พฤษภาคม 2563