กรมอนามัย เตือน หญิงท้องฟันผุ ปริทันต์อักเสบ – ปล่อยไว้ ไม่รักษา เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด

  • 11 กันยายน 2562

       #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงหญิงตั้งครรภ์ฟันผุ ปริทันต์อักเสบ อาจทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด และทารกมีโอกาสเสี่ยงฟันผุเพิ่มมากขึ้นถึง 5 เท่า แนะเข้ารับการตรวจสุขภาพช่องปากตั้งแต่แรกฝากครรภ์ 

           แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า นอกจากการแปรงฟันอย่างถูกวิธีด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันในหญิงตั้งครรภ์แล้ว ปัญหาสุขภาพช่องปากในหญิงตั้งครรภ์สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจสุขภาพช่องปากโดยทันตบุคลากรตั้งแต่มารับบริการฝากครรภ์ที่สถานบริการสาธารณสุข หากพบว่ามีปัญหาโรคในช่องปากควรเข้ารับการรักษาทางทันตกรรม โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการรักษาทางทันตกรรม คือ ช่วงอายุครรภ์ 4-6 เดือน แต่ถ้ามีอาการปวดฟัน เหงือกบวม เป็นหนอง มีฟันผุใหญ่ ลึก หรือฟันคุดที่มีการติดเชื้อ สามารถรับบริการทางทันตกรรมได้ทันที หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ดูแลสุขภาพช่องปากจนมีปัญหาเหงือกอักเสบและฟันผุ จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับเหงือกและฟันของลูกได้ เนื่องจากฟันน้ำนมของลูกเริ่มสร้างตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา 6 สัปดาห์ นอกจากนี้ หากแม่ได้สารอาหารไม่ครบถ้วนหรือไม่เพียงพอ อาจส่งผลให้การสร้างฟันของลูกผิดปกติและมีความเสี่ยงในการเกิดฟันผุมากขึ้น เพิ่มโอกาสสูญเสียฟันน้ำนมเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย หญิงตั้งครรภ์จึงต้องปรับพฤติกรรมบางอย่างในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอ ลดการกินของหวาน เน้นการกินผัก ผลไม้ หากมีอาการอาเจียนจากการแพ้ท้องหรือกินอาหารเปรี้ยว ควรบ้วนปากด้วยน้ำเปล่าทุกครั้ง และงดการแปรงฟันเป็นเวลา 1 ชั่วโมง ในรายที่อาเจียนมาก ควรใช้น้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์เพิ่มเติม เพื่อการมีสุขภาพช่องปากและสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงของทั้งแม่และลูก

           ทางด้าน ทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาสุขภาพช่องปากพบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนส่งผลให้เหงือกและเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปากอ่อนแอ อาการแพ้ท้อง อาเจียนบ่อย และการกินอาหารจุบจิบส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์เกิดโรคฟันผุได้ง่าย จากรายงานวิจัยผลการตรวจสุขภาพช่องปากหญิงตั้งครรภ์ของสำนักทันตสาธารณสุข พบว่าร้อยละ 90.3 มีฟันผุ โดยค่าเฉลี่ยฟันผุ ถอน อุด 6.37 ซี่ต่อคน และร้อยละ 91.8 จำเป็นต้องได้รับการขูดหินน้ำลาย การติดเชื้อในช่องปากทั้งจากโรคฟันผุ หรือโรคเหงือกอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ในรายที่มีโรคปริทันต์ อาจก่อให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ และเชื้อโรคจากช่องปากแม่ที่ฟันผุสามารถถ่ายทอดเชื้อสู่ลูกทางน้ำลายได้ ทำให้ทารกมีโอกาสเสี่ยงฟันผุเพิ่มมากขึ้นถึง 5 เท่า หญิงตั้งครรภ์จึงควรเข้ารับบริการขูดหินน้ำลายและทำความสะอาดช่องปากลดภาวะเหงือกอักเสบและอุดฟันลดปริมาณเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก เพื่อลดความเสี่ยงการถ่ายทอดเชื้อโรคในช่องปากจากแม่สู่ลูก

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 11 กันยายน 2562

 

 

 

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!