#ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงคนขับรถทางไกลเป็นเวลานานจนเกิดอาการเมื่อยล้า แนะนำ 8 ท่ายืดเหยียดผ่อนคลาย พร้อมบริหารใบหน้าบรรเทาอาการง่วงนอน
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประชาชนนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาหรือไปเที่ยวต่างจังหวัด การเดินทางส่วนใหญ่ผู้ขับรถทางไกลจะนิยมเดินทาง ในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ก่อนขับรถทางไกลทุกครั้งผู้ขับควรพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8ชั่วโมง เตรียมผ้าเย็นเวลาง่วง สวมแว่นตากันแดดขณะขับรถ และสิ่งสำคัญควรตรวจสภาพของรถยนต์ให้พร้อมใช้งาน ปรับการนั่งขับรถให้ถูกต้อง โดยเลื่อนเบาะที่นั่งให้อยู่ในระดับเหมาะสม กับตนเอง หลังพิงพนักพอดี ไม่นั่งห่างหรือชิดพวงมาลัยมากเกินไปเพราะจะทำให้หลังโค้ง พิงพนักไม่ได้ หรือพิงได้แต่เวลาขับต้องเหยียดแขนและเข่ามากขึ้นเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดหลัง ซึ่งหากปวดหลังเป็นเวลานานและไม่มีการดูแลอย่างถูกวิธี อาจทำให้เสี่ยงปวดหลังถาวรได้และควรคาดเข็มนัดนิรภัยทุกครั้งเพื่อความปลอดภัยขณะขับรถทั้งผู้ขับขี่แลผู้โดยสาร
ด้านนายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวเสริมว่า ระหว่างการเดินทาง ผู้ขับรถยนต์สามารถลดอาการเมื่อยล้าได้แม้อยู่ในรถ ขณะที่รถหยุดนิ่งหรือในช่วงรถติด ด้วยการบริหารร่างกายง่าย ๆ เช่น ท่ายืดเหยียดกล้ามเนื้อคอ ให้เอียงคอลงมาข้างขวา เข้าหาหัวไหล่ ให้ฝั่งตรงข้ามรู้สึกตึงทำค้างไว้ประมาณ 15 วินาที จากนั้นสลับปฏิบัติด้านตรงข้าม ท่ายืดไหล่ ทำได้โดย นั่งยืดตัวแล้วบีบไหล่ยกขึ้นไปหาใบหู ค้างไว้ นับ 1-3 แล้วเอาลง จากนั้นทำซ้ำ 5 ครั้ง จะช่วยคลายเมื่อยได้ นอกจากนี้การบริหารใบหน้าและตาเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คลายง่วง มีวิธีการง่าย ๆ เริ่มจากท่าที่ 1 หลับตา เพื่อพักสายตาประมาณ 10-30 วินาที ท่าที่ 2 หันหน้าไปทางขวาค้างไว้ 5 วินาที กลอกตาขึ้นลง 5 วินาทีหันไปทางด้านซ้ายทำเหมือนเดิม ทำซ้ำ 5 ครั้ง ท่าที่ 3 แลบลิ้นออกมาให้ยาวที่สุดค้างไว้ 60 วินาที ท่าที่ 4 ยกคิ้วขึ้นเปิดตาให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ ห่อปาก ทำซ้ำ 5 ครั้ง ท่าที่ 5 เปิดตาให้กว้างที่สุดโดยไม่ต้องยกคิ้วขึ้น ทำซ้ำ 5 ครั้ง ท่าที่ 6 เงยหน้ามองที่เพดานค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 5 ครั้ง ท่าที่ 7 หายใจเข้าลึก ๆ ขณะหายใจออกให้ห่อปากพ่นลมหายใจออกมาพร้อมกัน ทำท่านี้ 30 – 60 วินาที และท่าที่ 8 ยกมือขวาให้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางติดกันวางไว้บนโหนกแก้มขวา กดลงเล็กน้อย จากนั้นให้ยิ้มกว้างเพื่อยกโหนกแก้มให้สูงขึ้น ค้างไว้ 5 วินาที จากนั้นสลับมาด้านซ้าย ทำซ้ำเหมือนเดิมสลับไปมาข้างละ 3 ครั้ง จะช่วยผ่อนคลายและ แก้ง่วงได้
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 11 เมษายน 2562