กรมอนามัย เตือนอันตราย เล่นประทัดไม่ระวัง เสี่ยงบาดเจ็บ ถึงขั้นเสียชีวิต

  • 10 ตุลาคม 2562

          #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะพ่อแม่ผู้ปกครองควรห้ามลูกหลาน เล่นประทัด เพราะเสี่ยงเกิดอันตรายและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

          นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีข่าวเด็กเล่นจุดประทัดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และเกิดระเบิดจนได้รับอันตรายนั้น ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดไม่ให้เล่นประทัด จุดพลุ ดินปืน เพราะเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตรายแก่ตัวเด็กเองและผู้อื่น ซึ่งการเล่นประทัดไม่ระวังนอกจากจะทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายแล้ว ผู้ที่เล่นประทัดเองก็ได้รับอันตรายจากสารเคมีหลายชนิด และอาจได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ รวมถึงอาจก่อให้เกิดอัคคีภัยด้วย โดยความร้อนของประทัดสามารถทำให้ผิวหนังไหม้ได้ หากมีการสัมผัสหรือสูดดมเอาสารเคมีที่อยู่ในรูปของเหลว ผง ไอระเหย และควันพิษ เข้าสู่ร่างกาย อาทิ สารโปแตสเซียมเปอร์คลอเรต สารซัลเฟอร์หรือกำมะถัน สารโปตัสเซียมไนเตรต สารแบเรียมไนเตรต เข้าสู่ร่างกาย   จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง หู ตา จมูก ระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะสารแบเรียมไนเตรต มีพิษมากอาจทำลายตับ ม้าม และยังทำให้เกิดอัมพาตที่แขน ขา และบางรายเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ความดังของเสียงประทัดก่อให้เกิดระดับเสียงกระแทกสูงกว่า 130 เดซิเบล เอ มีผลทำให้เกิดอาการหูตึงชั่วคราว แต่หากได้ยินติดต่อกันเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดอาการหูตึงถาวร

           “ทั้งนี้ ก่อนจุดประทัดทุกครั้ง ต้องอ่านฉลาก คำแนะนำ วิธีการใช้ คำเตือน และตรวจสอบประทัดให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ได้มาตรฐาน และควรเก็บประทัดให้ห่างจากประกายไฟ ความร้อน เช่น บุหรี่ ส่วนสถานที่จุดประทัด ต้องเป็นที่เปิดโล่ง ห่างไกล จากบ้านเรือน ถังแก๊ส ไม่ควรจุดประทัดครั้งละมาก ๆ ที่สำคัญห้ามเด็ก ๆ จุดประทัดเองโดยเด็ดขาด ห้ามนำประทัดมาดัดแปลง เล่นผิดประเภท หรือนำมาทุบจนเกิดแรงระเบิดหรือแรงอัดเสียงดัง ห้ามจุดประทัดใกล้บริเวณบ้านเรือน สถานีน้ำมัน แนวสายไฟ ลูกโป่ง ถังแก๊ส หรือความร้อน และวัตถุไวไฟ แต่ถ้าจำเป็นต้องจุดควรห่างจากตัวประมาณ 1 เมตร หรือ 1 ช่วงแขน  ห้ามจุดเล่นในมือหรือส่วนใดในร่างกายหรือยื่นหน้าและอวัยวะต่างๆ เข้าไปใกล้ประทัด และห้ามโยนประทัดใส่กลุ่มคนเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้     หากเกิดเหตุฉุกเฉินให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 (หน่วยฉุกเฉินทางการแพทย์) ซึ่งจะมีทีมแพทย์ฉุกเฉิน และทีมกู้ชีพคอยให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

 ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 10  ตุลาคม 2562

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH