Warning: Undefined variable $bg in D:\wwwroot\multimedia\wp-content\themes\anamai_2021_v1_0_1\single.php on line 28
>

กรมอนามัย ชี้ ยุงลายเป็นเหตุรำคาญ พบแหล่งเพาะพันธุ์ต้องกำจัด ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำและปรับ

  • 5 มิถุนายน 2562

              #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กําหนดให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย เป็นเหตุรําคาญ พ.ศ. 2545 พร้อมแนวทางปฏิบัติของเจ้าพนักงานท้องถิ่นและเจ้าพนักงานสาธารณสุขและผู้ครอบครองอาคาร หากไม่มีการควบคุมและป้องกันแหล่งเพาะพันธุ์ยุง มีโทษทั้งจําทั้งปรับ

               นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยแนวทางการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกที่รุนแรงในขณะนี้ เป็นปัญหาสาธารณสุขที่ต้องป้องกันเฝ้าระวังอย่างเข้มแข็ง พร้อมเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในภาชนะหรือเศษวัสดุที่มีน้ำขัง และเมื่อมีการตรวจพบลูกน้ำหรือตัวโม่งยุงลายถือเป็นเหตุรำคาญ ซึ่งราชการส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่น และ เจ้าพนักงานสาธารณสุขสามารถดำเนินการควบคุมได้ทันที ตั้งแต่ 1) ประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนในท้องถิ่นทราบถึงอันตรายของโรคไข้เลือดออก ลักษณะอาการ การควบคุมและป้องกันแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมทั้งผลทางกฎหมาย ที่กำหนดให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นเหตุรำคาญ 2) ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานสาธารณสุข และผู้ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เฝ้าระวังโรคและควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ 3) หากพบว่าอาคารหรือสถานที่ใดของเอกชนมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือเจ้าพนักงานสาธารณสุข หรือผู้ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น แจ้งหรือแนะนำให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งนั้น ปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาตามสมควร 4) หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่ปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำภายในกำหนดเวลา ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งเป็นหนังสือตามมาตรา 28 ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารนั้น ปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาตามสมควร หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดตามมาตรา 74 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

               นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า กรณีที่ตรวจพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในที่หรือทางสาธารณะ เจ้าพนักงานท้องถิ่นสามารถดำเนินการได้ทันที หากทราบว่าแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายนั้นเกิดจากการกระทำของบุคคลใดให้ออกคำสั่งตามมาตรา 27 ให้บุคคลนั้นปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้ท้องถิ่นสั่งการให้ดำเนินการลงโทษตามมาตรา 85 แต่หากไม่ปรากฏว่าเกิดจากบุคคลใดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของท้องถิ่นดำเนินการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์นั้นได้โดยการถม ระบายน้ำทิ้ง คว่ำ หรือใส่สารเคมีกำจัดลูกน้ำ แล้วแต่กรณีที่เหมาะสม ส่วนกรณีที่เป็นอาคารรกร้างว่างเปล่า หรือก่อสร้างไม่เสร็จ โดยไม่ปรากฏเจ้าของชัดเจนและเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ให้ราชการส่วนท้องถิ่นดำเนินการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายนั้นได้

                 “ทั้งนี้ วิธีป้องกันตนเองจากการโดนยุงกัดและการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในบ้านและบริเวณบ้าน เพื่อป้องกันการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ทุกคนสามารถทำได้ด้วยการกำจัดเศษขยะและคว่ำภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น เศษขยะพลาสติก ยางรถยนต์เก่า เศษกระถาง เป็นต้น ทำความสะอาดและเก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบ เปลี่ยนถ่ายน้ำในภาชนะที่กักเก็บน้ำทุกสัปดาห์ เช่น แจกัน น้ำพุเทียม กระถางต้นไม้ เป็นต้น เพื่อทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของยุง รวมถึงใช้ทรายอะเบทกำจัดลูกน้ำยุง และใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชูในจานรองขาตู้กับข้าว เพื่อตัดวงจรการเจริญเติบโตของยุง ที่สำคัญต้องปกปิดภาชนะเก็บน้ำภายในบ้านให้มิดชิด เพื่อป้องกันยุงลายเข้าไปวางไข่ ติดตั้งตาข่ายหรือมุ้งลวดประตูและหน้าต่างเพื่อกันยุง หากในบ้านมีเด็กเล็กต้องกางมุ้งครอบเตียงของเด็ก นอกจากนี้ หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดยุงต้องอ่านฉลากผลิตภัณฑ์ให้เข้าใจและปฏิบัติตาม เพื่อลดการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในครอบครัว” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 5 มิถุนายน 2562

 

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH