กรมอนามัย เตือน ใช้ก๊าซหุงต้มปรุงอาหารบนโต๊ะ อันตราย ชี้ ผิดกฎกระทรวง-ข้อบัญญัติท้องถิ่น

  • 3 มกราคม 2563

      #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน สถานที่จำหน่ายอาหารที่ใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงในการปรุงอาหารบนโต๊ะอาหาร ผิดกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 และผิดตามข้อบัญญัติท้องถิ่นหากมีกำหนดไว้ เช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2545

           แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ภาพภายในร้านปิ้งย่างแห่งหนึ่งย่านซอยลาดพร้าว 48 ซึ่งทางร้านได้ติดตั้งสายแก๊สแอลพีจีที่พื้น เชื่อมต่อไปทั่วทั้งร้านเป็นโครงข่าย เพื่อใช้กับเตาแก๊สสนาม หรือเตาแก๊สปิ๊กนิก ซึ่งบางสายอยู่ในสภาพทรุดโทรม โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคนั้น การใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงในการทำประกอบหรือปรุงอาหารบนโต๊ะหรือที่รับประทานอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหารมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอันตรายและไม่ปลอดภัยต่อสถานประกอบการ ผู้มาใช้บริการ รวมทั้งเป็นการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย ซึ่งหากผู้บริโภคพบเห็นร้านที่มีการติดตั้งก๊าซหุงต้มในลักษณะดังกล่าว สามารถแจ้งไปยังสำนักงานเขตพื้นที่หรือเทศบาลที่ร้านนั้น ๆ ตั้งอยู่ เพื่อดำเนินการตามข้อบัญญัติท้องถิ่นต่อไป สำหรับในส่วนของผู้บริโภคก็ต้องหลีกเลี่ยงการใช้บริการเพื่อความปลอดภัยด้วย โดยเลือกร้านที่ได้มาตรฐาน และมีป้ายสัญลักษณ์อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) ของกรมอนามัยรับรอง

           “ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหารปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 โดยบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2561 ในเรื่องการควบคุมสุขลักษณะสถานที่ขาย ข้อ 17 ห้ามใช้ก๊าซหุงต้มเป็นเชื้อเพลิงในการปรุงอาหารบนโต๊ะหรือที่รับประทานอาหาร หากสถานที่จำหน่ายอาหารฝ่าฝืนกฎกระทรวง ซึ่งออกตามความในมาตรา 6 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท รวมถึงกฎหมายท้องถิ่นได้ออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2545 ข้อ 9 (10) ห้ามใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงในการทำ ประกอบ ปรุงอาหารบนโต๊ะรับประทานอาหารในสถานที่จำหน่ายอาหาร หากสถานที่จำหน่ายอาหารฝ่าฝืนข้อบัญญัติท้องถิ่น ซึ่งออกตามความในมาตรา 40 (6) ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 25,000 บาท” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 3 มกราคม 2563

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH