กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนช่วงหน้าร้อนอาหารบูดเสียง่าย และเชื้อโรคเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ประชาชนควรเลือกอาหารปรุงสุก ยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ลดเสี่ยงโรคติดต่อจากอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคท้องร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด โรคไทฟอยด์และอหิวาตกโรค
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงหน้าร้อน ประเทศไทยจะมีอุณหภูมิสูงประมาณ 35-40 องศาเซลเซียส บางพื้นที่อาจสูงถึง 43 องศาเซลเซียล ซึ่งหน้าร้อนจะเหมาะกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส และขยายตัวเพิ่มปริมาณอย่างรวดเร็วหากปนเปื้อนอยู่ในอาหารก็จะทำให้บูดเสียง่าย ซึ่งโรคที่ต้องเฝ้าระวัง คือ โรคติดต่อจากอาหารและน้ำ ได้แก่ โรคท้องร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด โรคไทฟอยด์และอหิวาตกโรค เพราะ จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคอุจจาระร่วง ตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2565 พบว่า มีผู้ป่วย จำนวน 410,699 รายและเสียชีวิต จำนวน 2 ราย พบจำนวนผู้ป่วยในกลุ่มอายุ 0-4 ปี มากที่สุดร้อยละ 16.42 รองลงมาคือ มากกว่า 65 ปี ร้อยละ 15.25 และ 25-34 ปี ร้อยละ 13.56 ภาคกลาง คือ ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวไปต่อว่า ประชาชนควรเลือกซื้ออาหารจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ เช่น ตลาดสดน่าซื้อ ตลาดนัดน่าซื้อ หรือร้านอาหาร แผงลอย ที่ได้มาตรฐานอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) โดยเลือกเนื้อสัตว์ อาหารทะเลที่สด ไม่มีสีและกลิ่นผิดปกติ เก็บในอุณหภูมิไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส สำหรับผู้ที่ซื้อจากรถเร่จำหน่ายอาหารหรือรถพุ่มพวง ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เนื่องจากอาหารที่จำหน่ายในรถเร่นั้นมีการจัดเก็บที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ และอาหารทะเลส่วนมากจะแช่น้ำแข็งในตู้แช่ซึ่งอุณหภูมิไม่เพียงพอ ทำให้เน่าเสียง่าย ส่วนอาหารปรุงสำเร็จที่บรรจุใส่ถุงพลาสติกไว้ หากสังเกตว่ามีฟองก๊าซเกิดขึ้นในถุงไม่ควรซื้อ หลีกเลี่ยงอาหาร หรือขนมที่มีส่วนผสมของกะทิ เนื่องจากบูดเสียได้ง่าย
“ทั้งนี้ แนะนำให้เลือกกินอาหารปรุงสุก ใหม่ โดยยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ หลีกเลี่ยงการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ น้ำตก ก้อย หรือ หลู้ ส้า รวมถึงเมนูที่นิยมกินอย่างแพร่หลาย เช่น กุ้งเต้นพล่าปลา กุ้งแช่น้ำปลา ยำหอยแครง อาหารทะเลปิ้งย่าง เป็นต้น หากจะกินอาหารที่เก็บไว้ในตู้เย็น อาหารที่ทำไว้นานเกิน 4 ชั่วโมงหรือเก็บไว้ค้างคืน ต้องนำมาอุ่นให้เดือดด้วยความร้อนอย่างทั่วถึงก่อน นอกจากนี้หากกินอาหารร่วมกันควรใช้ช้อนกลาง โดยก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องส้วม ต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง เพื่อลดสื่อนำโรคติดต่อจากอาหารและน้ำ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
กรมอนามัย / 3 เมษายน 2566