กรมอนามัย แนะอาหารหญิงท้อง เตรียมพร้อมตั้งแต่ตั้งครรภ์จนคลอด
Views: 682
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะอาหารสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงคลอด และหลังคลอด เน้นกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเพียงพอต่อร่างกาย เพื่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวในโลกออนไลน์ที่มี หญิงตั้งครรภ์รายหนึ่งชอบดื่มน้ำแดงโดยคิดว่าจะสามารถช่วยบำรุงเลือดได้นั้น ไม่เป็นความจริง โดยการเตรียม ความพร้อมก่อนตั้งครรภ์หรือในระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ คือ ข้าว-แป้ง เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วชนิดต่างๆ ผักและผลไม้สด เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ซึ่งในแต่ละช่วงเดือน ร่างกายจะต้องการสารอาหารแตกต่างกันไป โดยในช่วงไตรมาสแรกคือ 1-3 เดือนแรก ความต้องการพลังงานของร่างกายจะเพิ่มขึ้น เพียงเล็กน้อย ควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่และหลากหลาย หากแพ้ท้องมากทำให้กินอาหารได้น้อยควรแบ่งมื้อกินเป็น มื้อย่อยๆ หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดและอาหารที่มีเครื่องเทศมาก ช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2 คือ 4-6 เดือน ความต้องการพลังงานและโปรตีนจะเพิ่มมากขึ้น ควรกินอาหารมากขึ้น เน้นอาหารที่มีคุณภาพโดยกินอาหารให้หลากหลายและ ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารจำพวกโปรตีน และแร่ธาตุที่สำคัญ ได้แก่ โฟเลต ธาตุเหล็ก สังกะสี ไอโอดีน และโพแตสเซียม เพราะในระยะนี้ลูกน้อยกำลังสร้างเนื้อเยื่อ อวัยวะต่างๆ รวมทั้งโครงสร้างของร่างกาย สารอาหารที่เพียงพอ จะไปช่วยเพิ่มขนาดของอวัยวะที่ทารกกำลังเจริญเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งพัฒนาการทางสมองและระบบประสาท และมากพอที่จะทำให้สุขภาพของแม่แข็งแรงอยู่ได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันมาก ขนมหวานและเครื่องดื่มที่มีรสหวานจัด รวมถึงอาหารรสจัด และเพื่อให้ลูกมีน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 2,500 กรัม และสมองดี ควรกินปลามื้อละ 4 ช้อนกินข้าว อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง กินตับมื้อละ 4 ช้อนกินข้าว สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง กินไข่วันละ 1 ฟอง กินผัก มื้อละ 2 ทัพพี กินผลไม้ มื้อละ 2 ส่วน ดื่มนมสมรสจืดทุกวัน วันละ 2-3 แก้ว (แก้วขนาด 200 ซีซี)
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า ขณะตั้งครรภ์ควรควบคุมน้ำหนักตัวให้เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ คือ 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ หรือ 2 กิโลกรัมต่อเดือน ซึ่งในช่วงนี้ร่างกายต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน และต้องการโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ไข่ นมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นจากปกติ ควรเพิ่มธาตุเหล็กเพื่อใช้ในสร้าง เม็ดเลือดและโฟเลทในการป้องกันความผิดปกติปากแหว่งเพดานโหว่ ซึ่งพบในเครื่องในสัตว์ ผักสีเขียวเข้ม ไข่แดง เป็นต้น เพิ่มแคลเซียมและฟอสฟอรัสในการสร้างกระดูกและฟันจาก นม ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้แข็ง ธัญพืช และ ผักเขียวเข้ม กินอาหารที่เป็นแหล่งไอโอดีน เช่น อาหารทะเล หรือปรุงประกอบอาหารด้วยเครื่องปรุงที่มีการ เสริมไอโอดีนที่ช่วยในการพัฒนาระบบประสาทและการเจริญเติบโตของเซลล์สมองให้สมบูรณ์ โดยช่วงไตรมาสที่ 3 คือ 7-9 เดือน ร่างกายยังต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน หรือเท่ากับอาหาร 1 มื้อ หรืออาจเพิ่มเป็นอาหารว่าง 2 มื้อ ในช่วงนี้ควรติดตามการเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก เนื่องจากจะมีผลต่อการเจริญเติบโตกับทารก
“ทั้งนี้ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจครรภ์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และควรกินไตรเฟอร์ดีน ซึ่งประกอบด้วยไอโอดีน ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิกทุกวัน วันละ 1 เม็ด ตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอด 6 เดือน ตามที่โรงพยาบาลหรือสถานบริการจ่ายให้ เพื่อการเจริญเติบโตของสมองและร่างกายของลูก นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำสะอาด วันละ อย่างเพียงพอเป็นสิ่งสำคัญต่อลูกเมื่อทารกคลอดออกมาในช่วงระยะ 6 เดือนแรก ทารกจะได้รับนมแม่เป็นอาหารหลัก การเจริญเติบโตของทารกจะขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของน้ำนม ในระยะนี้แม่จึงจำเป็นต้องกินอาหารให้ได้รับสารอาหารให้เพียงพอเหมาะสมและหลากหลาย เพื่อใช้สร้างน้ำนมสำหรับลูกให้ได้ปริมาณที่เพียงพอและได้คุณภาพ ได้แก่ หัวปลี ใบกระเพรา ฟักทอง เมล็ดขนุนต้ม พริกไทย ขิง มะรุม ใบแมงลัก กุยช่าย ตำลึง มะละกอ พุทรา” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 31 ตุลาคม 2562