#ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเผย การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในกลุ่มเด็กเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวต้องเป็นวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็กสำหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดียังไม่แนะนำวัคซีน โควิด-19 พร้อมย้ำพ่อแม่ ผู้ปกครองคุมเข้มตนเองลดเสี่ยงแพร่เชื้อโควิด-19 ไปสู่ลูก
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มเด็กปฐมวัย อายุต่ำกว่า 6ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 25 กรกฎาคม 2564 พบมีเด็กต่ำกว่า 6 ปีติดเชื้อ13,444 ราย มีอาการรุนแรง 791 ราย และเสียชีวิต 2 ราย เป็นเด็กวัย 1 เดือน และ2 เดือนโดยพบว่าเด็กทั้ง 2 รายที่เสียชีวิต เนื่องจากมีโรคประจำตัวคือโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรง และสัมผัสบุคคลที่เป็นโรคในครอบครัว และเริ่มมีความเสี่ยงที่โรคจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งข้อมูลจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยได้มีคำแนะนำดังนี้ 1) ยังไม่แนะนําวัคซีนโควิด-19 สําหรับเด็กทั่วไปที่แข็งแรงดี ในขณะนี้จนกว่าจะมีวัคซีนที่มากขึ้น และมีข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กเพิ่มเติม 2) แนะนําให้ฉีดวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุขรับรองให้ใช้ในเด็ก ในกรณีผู้ป่วยเด็กที่มีโรคประจําตัวที่มีความเสี่ยงของโรคโควิด-19 ที่รุนแรง เช่น โรคอ้วน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และโรคเบาหวาน เป็นต้น 3) แนะนำให้ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดรับวัคซีน 4) แนะนำให้สร้างวินัยในการป้องกันตัวเอง เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ให้แก่เด็กในทุกวัยและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท และ 5) แนะนำให้ผู้ปกครองทำงานที่บ้าน งดการเยี่ยมเยียนจากบุคคลภายนอก
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่มีข้อมูลรองรับถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปมีเพียงชนิดเดียว ได้แก่ วัคซีนชนิด mRNAของไฟเซอร์ซึ่งได้รับการรับรองให้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาตั้งแต่วันที่10 พฤษภาคม 2564 และได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การอาหารและยาประเทศไทยให้ใช้ในอายุ12 ปีขึ้นไป เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564ซึ่งการนำเข้ายังอยู่ในระหว่างดำเนินการ สำหรับวัคซีนซิโนแวค แม้จะมีการใช้ในประเทศจีนในเด็กอายุ3 ถึง 17ปีจากการศึกษาวิจัยในระยะที่ 1 และ 2 พบว่ากระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีแต่ยังไม่มีข้อมูลเรื่องของประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็กและกำลังอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัยวัคซีนอีกหลายชนิดในผู้ป่วยเด็กกลุ่มอายุต่าง ๆ ลงไปจนถึงอายุ 6 เดือน ซึ่งอาจจะมีข้อมูลด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยออกมาเพิ่มเติมในอนาคต
“ทั้งนี้ การป้องกันที่ดีที่สุดในช่วงนี้คือพ่อแม่ผู้ปกครองควรดูแลเด็กเป็นพิเศษโดยยึดหลัก เว้นห่างไว้ใส่แมสกัน หมั่นล้างมือถือหลักรักสะอาด และปราศจากแออัดทั้งในบ้านและนอกบ้าน แต่เด็กอาจจะทำได้ ไม่เคร่งครัด ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองจึงต้องเป็นผู้ปฏิบัติอย่างเข้มข้นแทนเพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อไปสู่ลูก ดังนี้ 1)เว้นระยะห่างทุกครั้งที่ออกนอกบ้านและจำกัดการเดินทางเท่าที่จำเป็น และไม่ไปในที่ที่มีคนหนาแน่น เมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที2) สวมหน้ากากตลอดเวลา ยกเว้นเฉพาะเวลากินอาหาร และไม่กินอาหารร่วมกัน หากจำเป็นต้องดูแลเด็กกินอาหารผู้ปกครองควรแยกหรือเหลื่อมเวลากินอาหาร3) หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆ และ 4)ผู้ปกครองควรทำงานที่บ้าน และงดการเยี่ยมจากบุคคลนอกบ้านในทุกกรณีและประเมินความเสี่ยงตนเองผ่าน “ไทยเซฟไทย” ทุกวัน หากสังเกตอาการมีไข้สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียสไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูกหายใจไม่สะดวก อาจมีปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย และถ้ามีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อต้องปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและแยกกักตัว ถ้ามีอาการรุนแรงขึ้น เช่นไข้สูงมากขึ้น เหนื่อย หอบหายใจเร็วต้องรีบพบแพทย์ทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ /31 กรกฎาคม 2564