กรมอนามัย เตือน ปีใหม่ ตกแต่งด้วยลูกโป่งสวรรค์อัดก๊าซไฮโดรเจนอันตราย เสี่ยงไฟลุกไหม้

  • 30 ธันวาคม 2564

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนเลี่ยงการนำลูกโป่งสวรรค์ที่บรรจุด้วยก๊าซไฮโดรเจน มาประดับในงานเทศกาลปีใหม่ หรืองานรื่นเริงต่าง ๆ เนื่องจากมีความไวไฟสูง เสี่ยงไฟลุกไหม้ อันตรายถึงชีวิต

          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เมื่อถึงเทศกาลปีใหม่ ประชาชน มักนิยมจัดงานฉลองปีใหม่ และประดับประดาด้วยสิ่งของที่มีสีสัน เช่น ไฟสีระยิบระยับ ของตกแต่งต่าง ๆ รวมถึงลูกโป่งสวรรค์ ซึ่งมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสุข ความสนุกสนานในทุกเทศกาล แต่ที่ผ่านมาก็มักมีเหตุการณ์ระเบิดจากลูกโป่งสวรรค์จนเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากก๊าซที่บรรจุเข้าไปในลูกโป่งนั้นคือก๊าซไฮโดรเจนที่ติดไฟง่าย ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เมื่ออยู่ใกล้กับความร้อนหรือประกายไฟ อาจทำให้เกิดการระเบิดได้ หรือหากนำลูกโป่งมารวมกันหลาย ๆ ลูกก็จะยิ่งมีอันตรายมากขึ้น เพราะอาจเกิดการเสียดสีกันจนระเบิดได้ และจากปริมาณก๊าซที่มากขึ้น ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดการระเบิดลุกลามต่อไปยังลูกอื่น ๆ  ทำให้เกิดความร้อนและเปลวไฟลวกผิวหนัง เป็นอันตรายถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ลูกโป่งสวรรค์จะนิยมใช้ก๊าซ 2 ชนิดบรรจุ คือ ก๊าซไฮโดรเจน  และก๊าซฮีเลียม ผู้ที่ต้องการใช้ลูกโป่งสวรรค์ในงานต่าง ๆ ควรเลือกลูกโป่งสวรรค์ที่บรรจุด้วยก๊าซฮีเลียม   ถึงแม้จะมีราคาแพง แต่ปลอดภัยกว่า และจะไม่ติดไฟ ไม่มีปัญหาการระเบิด หากมีความจำเป็นต้องใช้ก๊าซไฮโดรเจน ควรเพิ่มความระมัดระวังในการบรรจุ และติดป้ายเตือนว่าห้ามนำเข้าใกล้ความร้อนหรือประกายไฟ ทั้งนี้ หากไม่ทราบว่าลูกโป่งสวรรค์บรรจุด้วยก๊าซชนิดใด ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีลูกโป่งสวรรค์เป็นจำนวนมาก

         “กรณีที่มีการนำถังก๊าซมาตั้งไว้บริเวณงานควรดูแลให้อยู่ในสภาพดี จัดวางในพื้นที่โล่ง อากาศระบายได้ดี ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันการล้มที่มั่นคง และก่อนเคลื่อนย้ายถังก๊าซต้องปิดฝาครอบวาล์วให้เรียบร้อย เคลื่อนย้าย โดยใช้รถเข็น ห้ามลากไปกับพื้นเพื่อป้องกันการเสียดสีและติดไฟ สำหรับการประดับตกแต่งด้วยลูกโป่งสวรรค์ภายในงานต่าง ๆ จะต้องจัดวางไว้ให้พ้นจากมือเด็ก หากลูกโป่งแตกควรเก็บเศษไปทิ้งถังขยะทันที เพื่อป้องกัน ไม่ให้เด็กหยิบเศษลูกโป่งมาอมหรือกัดเล่น เพราะอาจลื่นเข้าไปในลำคอจนอุดทางเดินหายใจได้ และที่สำคัญ  พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ให้เด็กเล่นลูกโป่งใกล้ใบหน้า เพราะหากเกิดการแตก แรงระเบิด จะเป็นอันตรายต่อใบหน้าและตาได้” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

กรมอนามัย / 30 ธันวาคม 2564

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH