กรมอนามัย ย้ำ ตลาดประเมินผ่าน COVID Free Setting ติดประกาศให้เห็นชัดเจน สร้างความมั่นใจผู้ใช้บริการ

  • 30 พฤศจิกายน 2564

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ ผู้ประกอบกิจการตลาดในเขตกรุงเทพมหานครและทั่วประเทศ ที่ประเมินตนเองผ่านช่องทางเว็บไซต์ stopcovid.anamai.moph.go.th ให้ติดใบประกาศ COVID Free Setting หรือ Thai Stop COVID Plus ให้เห็นชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการ   

           นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงนี้ ตลาดยังคงเป็นสถานที่ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เนื่องจากเป็นสถานที่รวมกลุ่มทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย ผู้ขนส่งสินค้า และแรงงานต่างด้าว จึงต้องป้องกันการติดเชื้อ แบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) ซึ่งผลการสำรวจอนามัยโพล ระหว่างวันที่ 6 – 22 พฤศจิกายน 2564 พบว่า ผู้ที่ไปใช้บริการที่ตลาด พบเห็นคนสวมหน้ากากไม่ถูกต้องหรือไม่สวม ถึงร้อยละ 24.6 โดยมาตรการที่พบเห็นตลาดปฏิบัติได้มากที่สุด คือ กำหนดจุดเข้าออกชัดเจน และวัดอุณหภูมิก่อนเข้า ร้อยละ 78.5 รองลงมาคือ มีจุดล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอออล์อย่างเพียงพอ ร้อยละ 61.8 ในขณะที่มาตรการที่พบเห็นว่าปฏิบัติได้น้อยที่สุด คือ เห็นใบประกาศ COVID Free Setting หรือ Thai Stop COVID plus ที่ตลาด ร้อยละ 19.3 รองลงมาคือ ภาชนะ    รองรับขยะมีฝาปิดมิดชิด ร้อยละ 24.6

           นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยขอความร่วมมือสถานประกอบการตลาดในเขตกรุงเทพมหานคร และทั่วประเทศ ต้องคุมเข้มและปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting ทั้ง 3 ด้าน ดังนี้  1) มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ให้ตลาดประเมินตนเองตามมาตรการ COVID Free Setting ผ่านช่องทางเว็บไซต์ stopcovid.anamai.moph.go.th และพิมพ์ใบประกาศ COVID Free Setting หรือ Thai Stop COVID Plus ติดประกาศให้เห็นชัดเจน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้บริการ จัดให้มีจุดเข้า-ออกเหมาะสมกับขนาดพื้นที่  จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะช่วงหนาแน่น เช่น ช่วงเช้า และช่วงเย็นจัดให้มีการเว้นระยะห่าง อย่างน้อย  1–2 เมตร เพื่อลดความแออัด จัดระบบการสุขาภิบาลและอนามัยสิ่งแวดล้อม ทำความสะอาดทำลายเชื้อทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณพื้นผิวสัมผัสร่วมให้ทำความสะอาดทุกชั่วโมง จัดให้มีภาชนะรองรับขยะแบบมีฝาปิดมิดชิด และ    ควรล้างทำความสะอาดครั้งใหญ่สัปดาห์ละครั้ง รวมทั้งปรับสภาพแวดล้อมให้มีการระบายอากาศที่ดี นอกจากนี้    ควรจัดบริเวณรับประทานไว้โดยเฉพาะ งดการจับกลุ่มพูดคุย

           “ถัดมาคือ 2) มาตรการด้านผู้ให้บริการ พ่อค้า แม่ค้า แรงงานต่างด้าว ให้ได้รับการฉีดวัคซีน  ตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือมีประวัติการติดเชื้อมาก่อนในช่วง 1-3 เดือน หรือมีการสุ่มตรวจ ATK เป็นระยะ  คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าตลาดด้วยการประเมินผ่าน “ไทยเซฟไทย” หากพบเสี่ยงปานกลางหรือเสี่ยงสูง งดให้บริการ           รวมถึงจัดคนควบคุมกำกับพนักงานและผู้รับบริการให้ปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting โดยเคร่งครัด และ 3) มาตรการด้านผู้รับบริการ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention)     คัดกรองความเสี่ยงก่อนเข้าตลาดด้วยการประเมินผ่าน “ไทยเซฟไทย” หากพบเสี่ยงปานกลาง หรือเสี่ยงสูง งดเข้าใช้บริการ และเลือกใช้วิธีจ่ายเงินแบบ e-Payment เพื่อลดการสัมผัส ซึ่งขณะนี้มีตลาดทั่วประเทศ  ประเมินผ่านมาตรการ COVID Free Setting แล้วจำนวน 192 แห่ง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 30 พฤศจิกายน 2564

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH