กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะศูนย์พักพิงจากพายุโนรู คุมเข้มความปลอดภัยในสถานที่ปรุงประกอบอาหาร และให้มีการจัดการสุขาภิบาลอาหาร จุดทิ้งขยะ และการดูแลความสะอาดของห้องส้วมให้ถูกสุขอนามัย ลดเสี่ยงโรค
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า พายุไต้ฝุ่นโนรูได้เคลื่อนที่เข้าปกคลุม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างของประเทศไทย ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวเกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ โดยเบื้องต้นในพื้นที่จังหวัดที่คาดว่าจะประสบอุทกภัย ได้เริ่มจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวให้ความช่วยเหลือประชาชนแล้ว จึงขอให้ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลศูนย์พักพิงคุมเข้มการจัดการด้านสุขาภิบาล สุขลักษณะ และอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันปัญหาด้านสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นขณะมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบมาพักพิงจำนวนมากได้ โดยจัดให้มีการถ่ายเทและระบายอากาศที่ดี ไม่ให้มีคนรวมกันแออัดมากเกินสมควร และสำหรับประชาชนที่อยู่ในศูนย์พักพิงต้องดูแลสุขอนามัยตนเองอย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับผู้คนจำนวนมาก ล้างมือบ่อย ๆ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน กินอาหารปรุงสุก รักษาระยะห่าง ลดการจับกลุ่มพูดคุย และหากมีอาการระบบทางเดินหายใจ หรือมีความเสี่ยงโรคโควิด-19 ต้องแจ้งบุคลากรสาธารณสุข หรืออาสาสมัคร เพื่อนำไปตรวจคัดครอง และดูแลรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ศูนย์พักพิงที่มีจุดปรุงประกอบอาหาร ต้องเลือกพื้นที่หรือสถานที่ทำครัว ให้ไกลจากห้องส้วม และที่เก็บขยะ ที่ระบายน้ำเสีย หรือที่เก็บสารเคมี หลีกเลี่ยงการเตรียมหรือปรุงอาหารบนพื้น จัดให้มีโต๊ะเตรียมปรุงอาหารที่สูงจากพื้น เพื่อป้องกันการปนเปื้อน และต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณโต๊ะที่ใช้เตรียมปรุงอาหาร เตาหุงต้มอาหารเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะเขียง ควรแยกเขียงหั่นเนื้อ หั่นผัก และอาหารปรุงสุก เขียงที่ใช้หั่นเนื้อสัตว์ต้องล้างขจัดคราบไขมันด้วยน้ำยาล้างจาน แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ห้ามนำผ้าที่สกปรกมาเช็ด เพราะจะทำให้เชื้อโรคจากผ้าปนเปื้อนอาหารที่มีการหั่น สับ บนเขียงได้ ส่วนผู้ปรุงประกอบอาหารต้องปฏิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ เช่น ล้างมือก่อนปรุงอาหาร ไม่ใช้มือจับอาหารปรุงสำเร็จโดยตรง ถ้ามือมีแผลต้องปิดแผลให้มิดชิดด้วยพลาสเตอร์กันน้ำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอาหาร ส่วนการบรรจุอาหารที่ปรุงสุกแล้วควรใส่ในภาชนะที่สะอาด และไม่ควรทิ้งระยะนานเกิน 2 – 4 ชั่วโมง หลังปรุงและบรรจุอาหารควรระบุวัน เวลา ในการกินให้ชัดเจน เพราะหากเก็บไว้นานเกินไป อาจทำให้อาหารบูดและเสียได้
“ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดการขยะ ต้องมีถังขยะใส่เศษอาหารที่ทำด้วยวัสดุไม่รั่วซึม มีฝาปิด หากใช้ปิ๊ป ควรมีถุงพลาสติกรองอีกชั้นหนึ่ง และต้องแยกขยะเป็นสองถังคือ ถังขยะเปียก และถังขยะแห้ง เพื่อง่ายต่อการกำจัด สำหรับการใช้ส้วมนั้น เนื่องจากประชาชนที่อาศัยในศูนย์พักพิงอาจมีจำนวนมาก จึงต้องดูแลด้านความสะอาดอย่างมากผู้ใช้จึงต้องให้ความสำคัญต่อพฤติกรรมการใช้ส้วมอย่างถูกต้อง โดยไม่ทิ้งขยะหรือวัสดุใด ๆ ลงโถส้วม ราดน้ำ หรือกดชักโครกทุกครั้งหลังการใช้ส้วม รวมถึงให้มีการล้างมือทุกครั้งด้วย เพื่อสุขอนามัยที่ดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 30 กันยายน 2565