กรมอนามัย แนะทำส้วมเฉพาะกิจ 3 รูปแบบ ทางเลือกช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

  • 30 สิงหาคม 2565

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีทำส้วมเฉพาะกิจ 3 รูปแบบ ทางเลือกสำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมวิธีทำลายเชื้อโรคเพื่อสุขอนามัยที่ดี

                 นายแพทย์อรรถพล  แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลายพื้นที่ในประเทศไทยยังคงมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขังในหลายครัวเรือน ก่อให้เกิดปัญหาแก่ประชาชนในพื้นที่   ทั้งเรื่องการบริโภคอาหาร รวมถึงการขับถ่ายด้วย โดยพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วมและมีปัญหาการใช้ส้วม กรมอนามัยมีคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดทำส้วมชั่วคราว หรือ ส้วมเฉพาะกิจ แบบถูกสุขลักษณะอนามัย เพื่อเป็นทางเลือกให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งจัดทำได้ 3 รูปแบบ ดังนี้ แบบที่ 1) ส้วมเก้าอี้พลาสติก โดยการตัดกระดาษแข็งให้เป็นรูปที่นั่ง และมีช่องวงรีตรงกลาง หลังจากเจาะ  เป็นช่องตรงกลางที่พื้นรองนั่งของเก้าอี้เป็นวงรี กว้างประมาณ 12 – 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 25 เซนติเมตร แล้วจึงนำถุงพลาสติกสวมลงไปในช่องวงรี โดยเปิดปากถุงคลุมเก้าอี้เอาไว้ แบบที่ 2) ส้วมถังพลาสติกหรือกระโถน นำถังพลาสติกหรือกระโถนเปิดฝาออก แล้วจึงนำถุงพลาสติกใส่ลงในถังหรือกระโถน คลี่ปากถุงครอบบนปากถัง หรือกระโถน  

               “สำหรับแบบที่ 3) ส้วมกล่องกระดาษ ใช้กล่องกระดาษ เอ 4 พร้อมฝาปิดมาเจาะช่องที่ฝากล่อง กว้างประมาณ 12 – 15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 25 เซนติเมตร จากนั้นคว่ำปากกล่องกระดาษลง นำฝากล่อง ที่เจาะเป็นช่องแล้ว ครอบปิดลงบนก้นกล่องกระดาษ แล้วเจาะก้นกล่องกระดาษเป็นช่องให้ตรงกันกับฝากล่อง นำเทปกาวติดฝากับตัวกล่องกระดาษให้แน่น ใช้ถุงดำใส่ลงในกล่อง คลี่ปากถุงครอบบนปากกล่อง เป็นอันเสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้ หลังขับถ่ายลงในถุงดำทุกครั้ง ให้ใช้ปูนขาวหรือขี้เถ้า 2 ช้อนโต๊ะ ใส่ในถุงอุจจาระ เพื่อทำลายเชื้อโรค จากนั้นมัดปากถุงให้แน่น แล้วรวบรวมส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป”รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

 กรมอนามัย / 30 สิงหาคม 2565

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!