กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือน กลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี หญิงท้อง หญิงให้นมบุตร ผู้มีปัญหาสุขภาพ หลีกเลี่ยงการควบคุมน้ำหนัก หรือลดน้ำหนักด้วยการทำ IF แนะปรับพฤติกรรมสุขภาพโดยกินอาหารลด หวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ ออกกำลังกายเป็นประจำ ดื่มน้ำเปล่าและนอนหลับให้เพียงพอ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกระแสข่าวของเด็กหญิงวัย 14 ปี ต้องการลดน้ำหนัก ด้วยการทำ Intermittent Fasting หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า ‘IF’ โดยกินอาหารเพียง 1 ชั่วโมง ส่วนอีก 23 ชั่วโมง จะงดกินอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก จึงขอย้ำกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงการทำ IF ได้แก่ 1) เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ไม่เหมาะที่จะทำ IF เนื่องจาก การอดอาหารนานเกินไปจะยับยั้งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับกลไกการเจริญเติบโต และการยืดยาว ของกระดูก 2) หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เนื่องจากการอดอาหารระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลให้แม่และเด็กในครรภ์ ขาดสารอาหาร โดยเฉพาะโฟเลทและธาตุเหล็ก ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ รวมถึงหญิงให้นมบุตรที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทารกได้รับสารอาหารที่จำเป็น คือ น้ำนมแม่ ดังนั้น ถ้าร่างกายคุณแม่ขาดสารอาหารที่สำคัญ เช่น วิตามิน และแร่ธาตุ ลูกก็จะขาดสารอาหารไปด้วยเหมือนกัน 3) คนที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคกระเพาะอาหาร การอดอาหารนาน จะทำให้อาการแย่ลงเพราะกรดในกระเพาะเพิ่มมากขึ้น โรคเบาหวาน เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดสัมพันธ์กับอาหาร หากอดอาหารนานระดับน้ำตาลในเลือดต่ำมาก (Hypoglycemia) อาจเป็นอันตรายได้ ผู้ที่มีภาวะเครียดสะสมหรือผู้ป่วย ที่มีพฤติกรรมการกินอาหารผิดปกติ เช่น คลั่งผอม ล้วงคอ กินไม่หยุด เป็นต้น พฤติกรรมการกินอาหารที่ผิดปกติสัมพันธ์กับสภาวะจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลเรื่องอาหาร รูปร่าง น้ำหนักตัว ส่งผลให้เกิดโรคตามมา เช่น โรคขาดสารอาหารโรคที่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร หากมีอาการรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่ต้องระวังในการทำ IF ได้แก่ บุคคลที่มีรูปแบบการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวันไม่แน่นอน เช่น บุคคลที่จำเป็นต้องพบปะผู้คนตลอดวัน บุคคลที่มีช่วงเวลาทำงานหลากหลาย (เข้าเวร) ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ เนื่องจากการอดอาหารนานเกินไปอาจส่งผลกับการมีรอบเดือนได้
“ทั้งนี้ สำหรับผู้ชายวัยทำงานที่ไม่มีปัญหาสุขภาพ กลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงหากสามารถบริหารจัดการเวลาได้ ไม่กระทบกับการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน หรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ และต้องการค้นหาวิธีใหม่ในการดูแลรูปร่าง โดยเลือกใช้วิธี ‘IF’ ควรปฏิบัติและมีข้อระมัดระวัง ดังนี้ 1) ผู้ที่เริ่มต้นแนะนำให้เริ่มอดอาหาร 12 ชั่วโมง โดยเลื่อนการกินมื้อแรกให้ครบ 12 ชั่วโมงจากมื้อสุดท้ายของวันก่อนหน้าแล้วค่อย ๆ เลื่อนออกไปทีละชั่วโมงในสัปดาห์ถัดไป 2) ควรเริ่มจากงดอาหารเช้า เพราะหากงดอาหารเย็น ตื่นขึ้นมาอาจจะมีอาการหิวได้ง่ายกว่า 3) สามารถออกกำลังกายในช่วงการทำ IF ได้ตามปกติ 4) ควรจัดสรรเวลาการอดอาหารให้เหมาะสมกับกิจกรรมประจำวัน โดยคำนึงถึงเวลาการทำงานเป็นหลัก 5) เมื่อเราเกิดความชำนาญมากขึ้นสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำ Fasting ได้ตามความเหมาะสม 6) ต้องบริโภคอาหาร เพื่อให้ได้พลังงานและสารอาหารเพียงพอตามที่ร่างกายต้องการ 7) ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ 8) หากไม่ไหว อย่าฝืน เพราะหากร่างกาย ยังไม่พร้อมก็อาจก่อให้เกิดผลเสียกับสุขภาพตามมาได้ และ 9) สภาพร่างกายของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ควรศึกษาข้อมูล อย่างละเอียดหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งตรวจร่างกายก่อนเสมอ”อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ด้าน ดร.แพทย์หญิงสายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวว่า การทำ IF ในบางรายอาจไม่ใช่วิธี ที่เหมาะสม จึงแนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ด้วยการเลิกกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรืออาหารที่ให้โทษต่อร่างกาย เช่น ของมัน ของทอด ของหวาน ขนมกรุบกรอบต่าง ๆ และเมื่อกินอาหารแต่ละมื้อ ให้ลดเค็มหรือโซเดียมให้น้อยลง ลดหวานโดยเฉพาะน้ำตาล ไม่กินจนอิ่มแน่น เลือกอาหารที่มีแคลอรีต่ำ โปรตีนสูง เช่น ข้าวไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื่องจากมีไขมันน้อยและย่อยได้ง่าย หันมาเลือกเมนู ต้ม นึ่ง ย่าง และเพิ่มผัก ผลไม้เข้าไปในทุกมื้อจะช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามิน แร่ธาตุ ออกกำลังกายเป็นประจำและดื่มน้ำเปล่าสะอาด รวมถึงพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อให้การดูแลสุขภาพเป็นพฤติกรรมสุขภาพที่ยั่งยืนควรปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ แบบเป็นสังคมที่มีสุขภาพดีระยะยาวต่อไป
กรมอนามัย / 29 มีนาคม 2565