กรมอนามัย ชี้กินอาหารแปรรูปมาก เสี่ยงขาดสารอาหาร ทำให้ดูแก่ก่อนวัย อาจเสี่ยงสมองเสื่อม

  • 28 สิงหาคม 2565

       #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชี้การกินอาหารแปรรูปมากเกินไป เสี่ยงขาดสารอาหาร ส่งผลให้ดูแก่ก่อนวัย และอาจเสี่ยงสมองเสื่อม แนะ 7 เคล็ดลับ ช่วยให้สมองดีสุขภาพแข็งแรง

           นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วิถีชีวิตที่เร่งรีบของสังคมเมืองและความเครียดสะสมจากการทำงาน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีเวลาดูแลตนเอง โดยเฉพาะการเลือกกินอาหาร มีแนวโน้มบริโภคอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารแปรรูปมากขึ้น เช่น น้ำอัดลม มันฝรั่งทอด ไส้กรอกรมควัน เบคอน แฮม ขนมขบเคี้ยว อาหารแช่แข็ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารบรรจุกระป๋องอาหารแปรรูปตามท้องตลาดส่วนใหญ่ผ่านการจัดเตรียม ปรุงรสกลิ่น ปรับเปลี่ยนรูปร่างบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ง่ายต่อการกินและเก็บรักษา อาหารแปรรูปบางชนิดมีการเติมส่วนผสมต่างๆ  เช่น สารให้ความหวานแทนน้ำตาล สารเติมแต่งอาหารเพื่อเพิ่มสีสันและกลิ่นให้น่ากินสารกันบูดเพื่อคงความสดใหม่และยืดอายุการเก็บรักษาบางชนิดอาจใส่น้ำตาลธรรมชาติหรือน้ำตาลฟรุกโตสชนิดพิเศษ (High Fructose Corn Syrup) มากเกินไปเพื่อให้อาหารมีรสชาติเนื้อสัมผัสและสีตามที่ต้องการส่งผลให้อาหารแปรรูปมีปริมาณน้ำตาล โซเดียมและไขมันอิ่มตัวสูง ซึ่งหากกินในปริมาณที่มากเกินไป และติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร ผิวพรรณเหี่ยวย่น หย่อนคล้อยดูแก่ก่อนวัย และเสี่ยงสมองเสื่อมได้

         นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า หากกินอาหารแปรรูปมากเกินไป จะทำให้ร่างกายเสี่ยงขาดสารอาหารสำคัญ ได้แก่ 1) วิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ พบมากในผักผลไม้ มีส่วนช่วยให้กระบวนการต่างๆ ของร่างกายทำงานได้เป็นปกติ โดยเฉพาะระบบประสาทและกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ผักผลไม้หลากสียังอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระช่วยป้องกันเซลล์ไม่ให้เกิดความเสียหาย หากร่างกายขาดสารอาหารเหล่านี้จะส่งผลให้เซลล์ถูกทำลายได้ง่าย ผิวหนังเหี่ยวย่นเกิดริ้วรอยก่อนวัยอันควร 2) โปรตีน เป็นองค์ประกอบโครงสร้างของเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกาย ทั้งผิวหนังกระดูก กล้ามเนื้อ เล็บ เอ็น และข้อ โปรตีนยังเป็นสารอาหารสำคัญในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและใช้สร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันต่างๆด้วย อาหารแปรรูปมักจะมีน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมสูง แต่มีโปรตีนต่ำ หากร่างกายได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ จะทำให้ป่วยง่าย หายช้า ผิวหนังหยาบกร้าน ดูแก่ก่อนวัย และอาจเสี่ยงสมองเสื่อมจากการขาดกรดอะมิโนจำเป็นต่อสมองอย่างทริปโตเฟน ที่พบได้ในเนื้อสัตว์ นม ไข่ และ 3) ใยอาหารมีส่วนสำคัญในการช่วยระบบขับถ่าย ทำให้เกิดกระบวนการหมักในลำไส้ได้กรดไขมันสายสั้นช่วยชะลอภาวะการอักเสบของสมองที่เพิ่มขึ้นตามอายุ สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งและลดการอักเสบของลำไส้ใหญ่

          อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า กรมอนามัยจึงขอแนะนำ 7 เคล็ดลับป้องกัน ช่วยให้สมองดีสุขภาพแข็งแรงได้แก่1) กินผักให้มาก กินผลไม้เป็นประจำ 2) กินธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วเปลือกแข็งและถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ
3) กินโปรตีนจาก ปลา ไข่ นม เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน 4) ลดอาหาร หวาน มัน เค็ม เลี่ยงอาหารแปรรูป 5) ศึกษาข้อมูลโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้กินอาหารมากเกินปริมาณที่กำหนดได้รับพลังงานจากน้ำตาลและไขมันสูงเกินไป ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน 6) ดูแลสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมโดยหลีกเลี่ยงสถานที่มลภาวะสูง และ 7) มีกิจกรรมทางกายออกกำลังกายเป็นประจำ ผ่อนคลายความเครียดและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้แก่ก่อนวัย และส่งผลดีต่อสมองด้วย

***

กรมอนามัย /28 สิงหาคม 2565

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!