กรมอนามัย เผยผลโพล ชี้ เปิดเทอมทำพ่อแม่กังวลโควิด-19 สูงถึงร้อยละ 95.6 ย้ำพื้นที่สีแดงเข้ม จัดการเรียนการสอน 4 แบบ

  • 27 พฤษภาคม 2564

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจของอนามัยโพล พบพ่อแม่ ผู้ปกครองยังกังวลต่อสถานการณ์    โควิด-19 ต่อการเปิดเรียนช่วงเดือนมิถุนายนถึงร้อยละ 95.6 ย้ำพื้นที่สีแดงเข้มเน้นจัดการเรียนการสอน 4 แบบ พร้อมขอความร่วมมือครู นักเรียน ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

        

               นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจอนามัยโพลประเด็น “ความรู้สึกกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 และการเปิดเรียนเดือนมิถุนายน 2564” ระหว่างวันที่ 18-24 พฤษภาคม 2564 พบว่า ผู้ปกครองมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 สูงถึงร้อยละ 95.6 โดยประเด็นที่มีความกังวลสูงมากที่สุดคือบุตรหลานอาจติดเชื้อโควิดจากเพื่อนร่วมชั้น/ครู/บุคลากร ร้อยละ 41.3 นอกจากนี้ เรื่องที่อยากให้สถานศึกษาเตรียมความพร้อมมากที่สุดคือ การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลของครูและนักเรียนร้อยละ 33.1 การจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษา 22.8 และโรงเรียนต้องผ่านเกณฑ์ประเมินความพร้อมด้านสาธารณสุข ร้อยละ 15.3 ตามลำดับ ซึ่งตามมาตรการผ่อนปรนของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กำหนดให้โรงเรียนทั้งภาครัฐและเอกชนเปิดเรียนได้ตามปกติตั้งแต่ 14 มิถุนายนนี้ โดยในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี ให้ใช้หลักการเรียนการสอนแบบ 4 แบบ คือ ออนแอร์  (On Air)  ออนดีมาน (On Demand) ออนไลน์ (Online) และ ออนแฮนด์ (On-Hand) แต่หากสถานศึกษาต้องการเปิดการเรียนการสอนก่อนวันที่ 14 มิถุนายน สถานศึกษานั้น ๆ ต้องดำเนินการตามเกณฑ์ ศบค. และขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อเรียน Online/On Air ได้ในจังหวัดสีแดงเข้ม และเรียน On Site ได้ในจังหวัดสีแดง/สีส้ม โดยโรงเรียนต้องผ่านการประเมินความพร้อม Thai Stop COVID Plus ครบทั้ง 44 ข้อ หลังจากประเมินแล้ว ให้โรงเรียนขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด เพื่อเปิดเรียนแบบ On Site รวมถึงต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การปฏิบัติตนของครูและนักเรียน กรมอนามัยยังคงเน้นย้ำตามมาตรการยกระดับความปลอดภัย มั่นใจสุขอนามัย ไร้โควิด-19 ระลอกใหม่ในสถานศึกษา ด้วย 6 x 6 มาตรการหลัก มาตรการเสริม และมาตรการเฉพาะ ได้แก่ 6 มาตรการหลัก DMHT-RC 1) D (Distancing) เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย      1-2 เมตร 2) M (Mask wearing) นักเรียนนักศึกษา(มัธยม-อุดมศึกษา) และบุคลากรทางการศึกษา สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100% ตลอดเวลาที่อยู่ในสถานศึกษา 3) H (Hand washing) ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่และน้ำนาน 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ 4) T (Testing) คัดกรองวัดไข้ สังเกตอาการ ซักประวัติผู้สัมผัสเสี่ยงทุกคนก่อนเข้าสถานศึกษา 5) R (Reducing) ลดการแออัด ลดเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง กลุ่มคนจำนวนมาก และ 6) C (Cleaning) ทำความสะอาดบริเวณพื้นผิวสัมผัสร่วม อาทิ ที่จับประตู ลูกบิดประตู ราวบันได เป็นต้น และ 6 มาตรการเสริม ได้แก่  1) ดูแลตนเอง มีวินัย 2) ใช้ช้อนส่วนตัว กินแยก ไม่กินรวมกัน 3) กินอาหารปรุงสุกใหม่ 4) ลงทะเบียนไทยชนะ 5) สำรวจตรวจสอบคนแปลกหน้ามาจากพื้นเสี่ยง และ 6) กักกันตัวเอง รวมถึงมาตรการเฉพาะ ได้แก่ รถรับ-ส่งนักเรียนหอพักนักเรียน สถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ กรณีเฉพาะความพิการ โดยเน้นย้ำสุขอนามัยต้องถือปฏิบัติอย่างเข้มข้น เข้มแข็ง และเข้มงวด นอกจากนี้ ในส่วนของครู บุคลากร และนักเรียนควรมีการประเมินตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” ที่ช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ในสถานศึกษา

       “ทั้งนี้ ขอให้โรงเรียนเน้นจัดการเรียนการสอนเป็นกลุ่มเดียว และมีกิจกรรมทำในกลุ่มเดียวกันตลอดทั้งวัน และทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกันเป็นประจำ อาทิ สนามเด็กเล่น อุปกรณ์ของเล่น โดยจัดกลุ่มสลับกันใช้งาน เพื่อช่วยลดการสัมผัสร่วมกันจำนวนมาก รวมทั้งปรับรูปแบบการรับประทานอาหารกลางวัน เช่น จัดเป็นกล่องอาหารแยกเฉพาะบุคคล และให้นักเรียนรับประทานอาหารในห้องเรียนของตนเอง ซึ่งมีที่นั่งเว้นระยะห่าง หรือปรับเวลาพักรับประทานอาหารกลางวันให้เหลื่อมเวลากัน นอกจากนี้ เมื่อกลับถึงบ้าน พ่อแม่ ผู้ปกครองควรให้เด็กล้างมือด้วย สบู่และน้ำ อาบน้ำ และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที ก่อนทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบ้าน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

  ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 27 พฤษภาคม 2564

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH