กรมอนามัย เน้นทำความสะอาด 7 จุดซ่อนฝุ่นในบ้าน ลดสูดดม กระทบทางเดินหายใจ

  • 25 ตุลาคม 2565

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะทำความสะอาดบ้านให้สะอาด โดยเฉพาะ 7 จุด ที่เป็นแหล่ง   สะสมฝุ่น เพื่อลดการสูดดมที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ สำหรับศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 ควรจัดทำห้องปลอดฝุ่น

     นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในช่วงนี้ อาจทำให้พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และบางจังหวัดในภาคอิสานประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 มีค่าสูงอยู่ในระดับที่เกินค่ามาตรฐาน โดยวันนี้ (25 ตุลาคม 2565)ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานคร พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ระหว่าง 13 – 70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เกินมาตรฐานจำนวน 16 สถานี ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล โดยค่าสูงสุดอยู่บริเวณริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ การป้องกันและลดการเพิ่มฝุ่น PM2.5 จึงควรเริ่มตั้งแต่ภายในบ้าน ด้วยการทำความสะอาดเพื่อลดแหล่งสะสมฝุ่น ได้แก่ 1) เครื่องปรับอากาศ เช็ดทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศ หรือหน้ากากเครื่องปรับอากาศ ด้วยผ้าเปียกบิดหมาด หรือเปิดน้ำเบา ๆ แล้วใช้แปรงขนอ่อนถูเบา ๆ จนสะอาดและนำไปผึ่งแดดหรือลมจนแห้งอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง รวมทั้งหมั่นตรวจเช็คสภาพเครื่องปรับอากาศทุก 6 เดือน 2) ผ้าม่าน ปลดผ้าม่านลงจากราง นำผ้าม่านไปแช่น้ำผสมผงซักฟอกประมาณ 30 – 60 นาที เพื่อให้ฝุ่นผงที่ฝังติดลึกในเนื้อผ้าคลายตัวออก ทำความสะอาด และนำไปตากจนแห้ง 3) หลังตู้เสื้อผ้า ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดเป็นประจำ 4) มุ้งลวด ถอดออกมาฉีดน้ำล้าง ใช้แปรงขนอ่อนขัดเบาๆ อาจใช้น้ำยาทำความสะอาดร่วมด้วยล้างให้สะอาด แล้วนำไปผึ่งแดดหรือลมจนแห้งก่อนนำมาติดตั้งใหม่ 5) ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน  ซักทำความสะอาดผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน แล้วนำไปตากจนแห้งและควรเปลี่ยนเป็นประจำ 6) พรม ควรดูดฝุ่นเป็นประจำ สำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือหอบหืด ควรเลี่ยงการใช้พรมในบ้าน และ 7) พัดลม ถอดใบพัดและตะแกรงออกมาฉีดน้ำล้าง และใช้แปรงขนอ่อนขัดซี่ตะแกรง จากนั้นนำชิ้นส่วน ที่ล้างเสร็จแล้วไปเช็ดด้วยผ้าสะอาดให้แห้งสนิท หรือนำผึ่งลมจนแห้งและนำชิ้นส่วนมาประกอบตามเดิม โดยขณะทำความสะอาด ควรสวมถุงมือ สวมหน้ากากปิดจมูกและปากทุกครั้ง

     “สำหรับสถานที่มีกลุ่มเสี่ยง เช่น ศูนย์เด็กเล็ก ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5  ควรจัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงอยู่ในห้องปลอดฝุ่น โดยเลือกห้องที่ห่างจากแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง เช่น ถนน ลานจอดรถ พื้นที่ก่อสร้างไม่มีแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองภายในห้อง เช่น จุดธูป หรือกิจกรรมอื่นที่เป็นแหล่งกำเนิดควัน มีช่องว่างของประตู หรือหน้าต่างน้อยที่สุด และไม่มีสิ่งของที่เป็นแหล่งสะสมของฝุ่นละอองภายในห้อง เช่น พรม หนังสือ ตุ๊กตาที่มีขน เป็นต้น ในช่วงที่ฝุ่นสูงให้ปิดประตู หน้าต่าง ให้มิดชิด และทำความสะอาด โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดถู เพื่อไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย และสามารถเพิ่มอุปกรณ์ในการลดปริมาณฝุ่นภายในห้อง เช่น เครื่องฟอกอากาศได้ นอกจากนี้ ควรคำนึงถึงจำนวนของผู้ที่ที่เข้ามาพักภายในห้องให้เหมาะสม ไม่ให้แออัดจนเกินไป และควรเปิดประตูเพื่อระบายความร้อน และระบายอากาศในช่วงที่ฝุ่นละอองลดลงด้วย”  อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 25 ตุลาคม 2565

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH