Warning: Undefined variable $bg in D:\wwwroot\multimedia\wp-content\themes\anamai_2021_v1_0_1\single.php on line 28
>

กรมอนามัย แนะ 6 แนวทางป้องกันฝุ่นฟุ้ง เผยเป็น PM10 หน้ากาก-ห้องปลอดฝุ่นช่วยได้

  • 24 กันยายน 2567

          กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงแนะ 6 แนวทาง สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นฟุ้งกระจายในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เสี่ยงได้รับผลกระทบต่อสุขภาพ เผยเป็นฝุ่นละอองขนาด PM10 สามารถป้องกันได้โดยการสวมหน้ากาก และทำห้องปลอดฝุ่น
 

                   แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม อำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย กรณีได้รับอิทธิพลจากพายุใต้ฝุ่น “ยางิ” ซึ่งหลังน้ำลด พบว่า บางจุดมีโคลน และโคลนที่แห้ง เมื่อมีรถวิ่งหรือลมพัดจะทำให้เป็นฝุ่นฟุ้งกระจาย ซึ่งจากข้อมูลการเฝ้าระวังฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า หลังวันที่ 16 กันยายน 2567 สถานการณ์ PM10 ในพื้นที่ อำเภอแม่สาย และอำเภอเมืองเชียงราย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงสูงสุดอยู่ที่ 72 มคก./ลบ.ม. ณ สถานีสาธารณสุขอำเภอแม่สาย แต่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง พบว่า ไม่เกินค่ามาตรฐาน (ไม่เกิน 120 มคก./ลบ.ม.) แต่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่ทำงานกลางแจ้งได้
                  แพทย์หญิงอัจฉรา กล่าวต่อไปว่า กรมอนามัยมีความห่วงใยประชาชน จึงมอบหมายให้ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ร่วมกับกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสาธารณสุขอำเภอจังหวัดเชียงราย ในการเฝ้าระวัง ติดตามและแจ้งเตือนสถานการณ์แก่ประชาชน และสื่อสารให้คำแนะนำการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองแก่ประชาชน 6 แนวทาง ดังนี้ 1) สวมหน้ากากอนามัยและแว่นตา เมื่ออยู่กลางแจ้ง 2) ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ อย่างน้อย 8–10 แก้ว 3) กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรเลี่ยงหรือลดระยะเวลาการทำกิจกรรมนอกอาคาร 4) สังเกตอาการผิดปกติ เช่น ระคายเคืองตา ตาแดง ผื่นคัน ไอ ให้เลี่ยงสัมผัสฝุ่นและหากอาการรุนแรงให้รีบไปพบแพทย์ 5) ติดตามข่าวสารจากช่องทางต่าง ๆ เพื่อป้องกัน และเลี่ยงเข้าไปในบริเวณที่ฝุ่นละอองสูง และ 6) สำหรับบ้านเรือนที่สามารถเข้าอยู่อาศัยได้แล้ว ให้ปิดประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าบ้าน โดยเฉพาะในช่วงกลางวัน ทำความสะอาด โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น และควรสวมหน้ากากขณะทำความสะอาด เพื่อป้องกันการสูดดมฝุ่นละออง เชื้อรา และแบคทีเรียที่อาจจะเกิดขึ้นหลังน้ำท่วม
                “นอกจากนี้ ประชาชนควรเฝ้าระวังการเจ็บป่วยที่อาจเกิดจากการรับสัมผัสฝุ่นละออง ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ โรคตา และ โรคผิวหนัง สำหรับการเฝ้าระวังและจัดการฝุ่นละอองในศูนย์อพยพที่ยังเปิดดำเนินการ หากอยู่ใกล้ถนนหรือบริเวณที่มีฝุ่นละอองสูง ขอให้ผู้ดูแลศูนย์อพยพดำเนินการ ดังนี้ 1) ปิดประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันฝุ่นละออง โดยเฉพาะในช่วงกลางวัน 2) ทำความสะอาด โดยใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดพื้นผิวต่าง ๆ เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น และ 3) เฝ้าระวังอาการผิดปกติแก่กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ สำหรับพื้นที่น้ำท่วม กรมอนามัย โดยทีม SEhRT ยังคงลงพื้นที่และสนับสนุน วีคลีน (V-Clean) อีเอ็มบอล (Em Ball) และชุดทำความสะอาด จำนวน 5,521 ชุด โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายที่น้ำท่วมลดลง ทีม SEhRT ได้ลงพื้นที่สนับสนุนการทำความสะอาด ให้ความรู้ประชาชน ครัวเรือน ในการป้องกันตนเองจากเชื้อโรค ล้างทำความสะอาดบ้าน และการดูแลสถานที่สาธารณะ เช่น ตลาด ศูนย์เด็กเล็ก การฟื้นฟูระบบประปาชุมชน เป็นต้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 24 กันยายน 2567

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH