กรมอนามัย ย้ำ ‘ผู้ปรุง–ผู้สัมผัสอาหาร’ มือเป็นแผล ลดเสี่ยงสัมผัสหมูดิบโดยตรง สวมถุงมือใช้ที่คีบช่วยได้

  • 24 มิถุนายน 2564

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ ผู้ปรุงประกอบอาหารและผู้สัมผัสอาหารร้านอาหารประเภทชาบู ปิ้งย่าง สวมถุงมือหรือใช้ที่คีบหยิบจับหมูดิบแทนการใช้มือหยิบจับโดยตรง หรือหากมือเป็นแผล ควรปิดพลาสเตอร์ป้องกัน และล้างมือด้วยสบู่และน้ำก่อน-หลังปรุงอาหารและก่อนกินอาหารทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงโรคไข้หูดับ หรือนำเชื้อสเตรฟโตคอกคัส ซูอิส เข้าสู่ร่างกาย

​         

 

                     นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้หูดับ ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า เสียชีวิตจากการได้รับเชื้อสเตรปโตคอคคัสซูอิส ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้หูดับ ผ่านทางบาดแผลที่มือที่มีการจับเนื้อหมูดิบก่อนนำมาเป็นวัตถุดิบเมนูหมูกะทะดังนั้น จึงขอย้ำให้ผู้บริโภคไม่ควรใช้มือที่ไม่สะอาดหรือเป็นแผลหยิบจับอาหารประเภทเนื้อหมูดิบ เพราะอาจจะปนเปื้อนและเป็นแหล่งนำเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายได้ ก่อนปรุงประกอบอาหารควรสวมใส่ถุงมือสำหรับอาหารโดยเฉพาะ ซึ่งถุงมือที่ใช้ต้องมีสภาพดี ไม่สกปรก ไม่ฉีกขาด ไม่ควรใช้ถุงมือที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล และควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อ หรือจากเขียงหมูที่ได้รับการรับรอง  จากกรมปศุสัตว์ที่รับจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐาน

            “ทั้งนี้ สำหรับผู้สัมผัสอาหารในร้านอาหารต่างๆ หรือร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ประเภทชาบู ปิ้งย่างมีการหยิบจับเนื้อสัตว์อยู่เป็นประจำ ควรมีการสวมถุงมือทุกครั้งหรือใช้ที่คีบที่สะอาด ที่สำคัญควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำก่อน-หลังปรุงอาหารทุกครั้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดี ส่วนผู้บริโภค ทางร้านควรแยกอุปกรณ์ในการคีบเนื้อสัตว์ เช่น   ช้อน ส้อม ตะเกียบ และอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการกินคนละชุดกัน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อต่าง ๆ ที่มากับหมูดิบได้ อีกทั้งยังสามารถหลีกเลี่ยงการหยิบจับ สัมผัสอุปกรณ์ร่วมกัน ทำให้มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโควิดด้วย สำหรับการนั่งกินภายในร้านควรรักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร ไม่ใช้เวลานานเกิน 2 ชั่วโมง และควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ แต่ควรปรุงให้สุกด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป อย่างน้อย 10 นาที นอกจากนี้ หากเนื้อหมูดิบที่ซื้อมาประกอบอาหารแล้วใช้ไม่หมด ควรเก็บในอุณหภูมิ 0-5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเก็บได้นาน 3-5 วัน หรือเก็บในช่องแช่เย็นที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส จะช่วยให้เก็บได้นานถึง 12 เดือน”  อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 24 มิถุนายน 2564

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH