กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระดมทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก ลงพื้นที่ร่วมกับทีมจังหวัด ติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง และประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชนจากกรณีเกิดสถานการณ์อหิวาตกโรคในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์อหิวาตกโรค ประเทศเมียนมา วันที่ 22 ธันวาคม 2567 พบว่า เมืองฉ่วยโก๊กโก่ มีผู้ป่วยรวมจำนวน 300 ราย เสียชีวิตแล้ว 2 ราย อยู่ระหว่างการรักษาในโรงพยาบาลฉ่วยโก๊กโก่อีก 56 ราย โดยมีการส่งผู้ป่วยเข้ามารักษาในประเทศไทย 2 รายที่โรงพยาบาลแม่สอด 1 ราย และโรงพยาบาลแม่ระมาด 1 ราย ยังอยู่ระหว่างรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้ อหิวาตกโรค สาเหตุเกิดจากได้รับเชื้อโรคจากอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม หรือดื่มน้ำและน้ำแข็งที่ไม่สะอาดมีการปนเปื้อน ส่งผลให้มีอาการท้องเสียรุนแรง อาจเกิดภาวะขาดน้ำ ช็อก และบางรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์อหิวาตกโรคในพื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีโรงงานจำนวนมาก และมีชาวต่างชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน รวมทั้งในช่วงเทศกาลปีใหม่ จะมีการจัดงานรื่นเริงและรับประทานอาหารร่วมกัน อาจเสี่ยงทำให้เกิดการระบาดของโรคได้
“กระทรวงสาธารณสุข โดย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีข้อสั่งการให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) ส่วนหน้า ในพื้นที่จังหวัดตาก เพื่อเตรียมการรับมือสถานการณ์อหิวาตกโรคจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กรมอนามัย มีความห่วงใยประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว จึงมอบหมายให้ทีม SEhRTศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก ลงพื้นที่ร่วมกับทีมจังหวัด ติดตามสถานการณ์อหิวาตกโรคระบาดในพื้นที่ชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พร้อมทั้งประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ ตรวจสอบคลอรีนอิสระ และอุปกรณ์จำเป็นให้กับพื้นที่ รวมทั้งสื่อสารแนวทางและแนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมรองรับภาวะฉุกเฉินสำหรับเจ้าหน้าที่ ผู้ประกอบการ ผู้ดูแลสถานที่สาธารณะ และประชาชน ดังนี้ 1) เจ้าหน้าที่ ทำการเฝ้าระวัง ประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยการตรวจสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ ตรวจสอบคลอรีนในน้ำใช้ น้ำประปาหมู่บ้าน ประปาชุมชนให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำสะอาดใช้ และสื่อสารความเสี่ยงแก่ประชาชนในการดูแลสุขอนามัยของตนเองและครอบครัวในการป้องกันโรค 2) ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะร้านอาหาร สถานประกอบการผลิตอาหาร ให้มีการกำหนดมาตรการทำความสะอาด การดูแลสถานประกอบการให้สะอาด ทั้งวัตถุดิบที่ใช้ทำอาหาร อุปกรณ์ทำครัว สถานที่ประกอบปรุง เช็ดถูทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคบริเวณโต๊ะอาหารและห้องน้ำห้องส้วมและจุดสัมผัสร่วม เติมคลอรีนในน้ำใช้ และดูแลสุขวิทยาของผู้สัมผัสอาหารและผู้ประกอบปรุงอาหารอย่างเข้มงวด 3) ผู้ดูแลสถานที่สาธารณะ โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก ศาสนสถาน ต้องทำการตรวจตรา เฝ้าระวัง ควบคุมคลอรีนในน้ำให้ได้มาตรฐาน เพื่อฆ่าเชื้อโรค ดูแลความสะอาดห้องน้ำห้องส้วม และจุดสัมผัสร่วมต่าง ๆ โดยการฆ่าเชื้อโรคทุกวัน สำหรับการประกอบปรุงอาหารในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็กต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสุขาภิบาลอย่างเคร่งครัด ลดการปนเปื้อนเชื้อโรคสู่นักเรียนหรือเด็กเล็ก 4) ประชาชนดูแลสุขอนามัยของตนเองและครอบครัว ล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือทุกครั้งหลังเข้าห้องน้ำห้องส้วม และก่อนกินอาหาร ใช้ช้อนกลางตักอาหาร และกินอาหารปรุงสุกใหม่เสมอ สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนอาศัยใกล้กับพื้นที่ที่มีการระบาด ให้ดูแลสุขภาพอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด มีการปรับปรุงคุณภาพน้ำเบื้องต้น เช่น ต้มน้ำให้เดือดก่อนนำมาใช้ หรือเติมคลอรีนลงในน้ำใช้ เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคก่อนนำมาอาบหรือใช้งานในครัวเรือน นอกจากนี้ กรมอนามัยยังมีชุดตรวจสอบภาคสนาม สำหรับเฝ้าระวังเชื้ออหิวาตกโรคในน้ำ และในอาหารสำหรับการดูแลประชาชน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 23 ธันวาคม 2567