กรมอนามัย แนะ เลือกซื้อเนื้อหมู แดงธรรมชาติ ไม่มีรอยบุ๋ม

  • 23 กันยายน 2563

 

           #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีเลือกซื้อเนื้อหมูที่มีสีแดงธรรมชาติ ใช้นิ้วกดดู เนื้อจะยืดหยุ่น ไม่มีรอยบุ๋ม รวมทั้งต้องไม่มีเม็ดสีขาวใสคล้ายเม็ดสาคู จากแหล่งมีการรับรองมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อหรือจากตราประทับบนหนังสัตว์ที่ชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์

           นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่งได้โพสต์รูปภาพเนื้อหมูที่มีลักษณะคล้ายก้อนหนองอยู่ด้านใน ซึ่งซื้อมาจากห้างใหญ่แห่งหนึ่งในแม่สอด โดยกรมปศุสัตว์ ชี้แจงว่าฝีหนองในเนื้อหมู เป็นก้อนฝีหนองที่เกิดจากภาวะอักเสบและติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งคาดว่าเกิดจากความไม่สะอาดในขั้นตอนการฉีดวัคซีนหรือการฉีดยารักษาสัตว์ โดยปกติจะใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ทาบริเวณผิวหนังหมูก่อนทุกครั้ง และยืนยันว่าไม่เป็นอันตรายกับผู้บริโภค เพราะไม่มีสารตกค้าง แต่ไม่แนะนำให้นำส่วนนี้ไปบริโภค เนื่องจากอาจมีเชื้อโรคสะสมอยู่เป็นจำนวนมากอาจทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษหรืออุจาระร่วงได้ สำหรับกรณีเลือกซื้อเนื้อสัตว์แช่แข็ง สามารถทำได้ ดังนี้ 1) เลือกเนื้อสัตว์ที่เก็บในตู้หรือห้องแช่แข็งที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า -18 องศาเซลเซียส 2) ต้องมีฉลากแสดงชื่อ-ชนิดของอาหาร วันที่ผลิต/บรรจุ วันหมดอายุและสถานที่ผลิต/บรรจุ 3) ก่อนนำเนื้อสัตว์แช่แข็งมาปรุงประกอบอาหารให้นำออกมาวางไว้ในช่องธรรมดาก่อน เพื่อให้มีการคลายความเย็น ไม่ควรนำอาหารที่แช่แข็งไปแช่น้ำร้อน จะทำให้คุณค่าลดลง

           “ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรสังเกตเนื้อหมูที่เก็บในความเย็นตลอดเวลา ต้องมีสีแดงธรรมชาติ ไม่ช้ำเลือด  ไม่มีกลิ่นเหม็นบูด ที่สำคัญต้องไม่มีเม็ดสีขาวใสคล้ายเม็ดสาคู เพราะเป็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด หรือมีลักษณะผิดปกติอื่น ๆ เช่น ตุ่ม ก้อน ผิวไม่แห้ง หรือแฉะเกินไป มีน้ำเยิ้ม โดยเลือกซื้อเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่มีการรับรองมาตรฐานตลาดสดน่าซื้อหรือแหล่งที่เชื่อถือได้ หรือสังเกตจากตราประทับบนหนังที่ชำแหละจากโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ ตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” เมื่อนำไปปรุงต้องล้างให้สะอาด โดยเฉพาะสิ่งสกปรกที่ติดมากับไขมัน ถ้าสกปรกมากควรล้างด้วยน้ำอุ่นแล้วจึงนำมาชำแหละอวัยวะต่าง ๆ และนำมาปรุงให้สุกทั่วถึงด้วยความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ไม่น้อยกว่า 2 นาที เพื่อทำลายเชื้อโรคและตัวอ่อนพยาธิ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

           ศูนย์สื่อสารสาธารณะ /  23  กันยายน 2563 

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH