กรมอนามัย หนุน รพ.สนาม คุมเข้ม 8 ด้าน จัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม แนะผู้ถูกแยกกักตัวยึดหลัก 3 อ. สร้างสุขภาพดี

  • 23 เมษายน 2564

  

         #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมโรงพยาบาลสนาม เน้นให้ปฏิบัติตามแนวทาง 8 ด้าน เพื่อการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและถูกต้อง พร้อมส่งเสริมให้ผู้ที่เฝ้าระวังมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพด้วย 3 อ คือ อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์

  

         นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า กรมอนามัยได้สนับสนุนการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมโรงพยาบาลสนาม โดยเน้นให้ปฏิบัติตามแนวทางการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและถูกต้องตามหลักวิชาการ แบ่งเป็น 8 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการจัดการอาคารสถานที่ 2) ด้านสุขาภิบาลอาหาร 3) ด้านการจัดการน้ำดื่มน้ำใช้  4) ด้านสุขาภิบาลและความปลอดภัยในการซักฟอก 5) ด้านการจัดการส้วมและสิ่งปฏิกูล 6) ด้านการควบคุมสัตว์และแมลงพาหะนำโรค 7) ด้านการจัดการน้ำเสีย และ 8) ด้านการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ โดยการพัฒนาและปรับปรุงต่อจากระบบที่มีอยู่เดิมให้มีความเหมาะสมต่อการเป็นโรงพยาบาลสนาม  ที่สะอาด ปลอดภัย ไม่แพร่เชื้อ และไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบ ซึ่งกรมอนามัยได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งจากโรงพยาบาลสนามมาตรวจยังศูนย์ห้องปฏิบัติการกรมอนามัย เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพน้ำทิ้งจากโรงพยาบาลสนามให้ประชาชนและชุมชนโดยรอบมีความมั่นใจในคุณภาพการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงส่งเสริมให้ผู้ที่ถูกแยกกักตัวมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพด้วย 3 อ คือ อาหาร ออกกำลังกายหรือกิจกรรมทางกาย  และอารมณ์ โดยให้ความรู้การดูแลสุขภาพตนเองและการดูแลรักษาความสะอาดขณะพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสนามด้วย

           นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การส่งเสริมสุขภาพด้วยหลัก 3 อ. เริ่มจาก อ. อาหาร ผู้ปรุงประกอบอาหารในโรงพยาบาลสนาม ควรมีความรู้ในการเลือกวัตถุดิบและวิธีการปรุงประกอบอาหารให้ถูกหลักโภชนาการมีคุณค่าทางสารอาหาร รวมถึงการลดการใช้วัตถุดิบและเครื่องปรุงรสหวาน มัน เค็ม โดยการปรุงประกอบอาหารควรเลือกทำเมนูที่เสียยาก กินง่าย ซึ่งตัวอย่างเมนูอาหารใน 1 วัน สามารถทำได้ดังนี้ 1) มื้อเช้า เป็นข้าวกล้องต้มหมูใส่เห็ดหรือแซนด์วิชทูน่าผักกาดหอม หรือข้าวต้มเลือดหมูใส่ตำลึง มะละกอ 6 ชิ้นพอคำ หรือกล้วยน้ำว้า 1 ผล 2) มื้อกลางวัน ควรเป็นราดหน้าหมูเห็ดหอม หรือข้าวหมูอบกระเทียมพริกไทยใส่ถั่วลันเตา หรือข้าวผัดกะเพราไก่ ใส่ข้าวโพดอ่อนถั่วฝักยาว แก้วมังกร 6 -8 ชิ้นคำ หรือชมพู่ 2 ผล และ 3) มื้อเย็น เป็นข้าวกล้อง ต้มจืดผักกาดขาวไข่น้ำ ปลาผัดขึ้นฉ่าย หรือข้าวกล้อง แกงส้มปลาช่อนผักรวม ผัดกะหล่ำปลีกุ้ง ฝรั่งครึ่งผล หรือส้มโอ 2 กลีบ เป็นต้น

           “สำหรับ อ.ออกกำลังกายหรือกิจกรรมทางกาย ควรลุกขึ้นมาขยับเส้นทุก ๆ 1–2 ชั่วโมง ด้วยการยืดเหยีดกล้ามเนื้อ เช่น การยืดกล้ามเนื้อคอด้านข้าง เอียงคอลงด้านข้างจนรู้สึกตึงบริเวณกล้ามเนื้อคอด้านข้าง ทำทั้ง 2 ข้าง ยืดค้างไว้ 15-30 วินาที แล้วพัก ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง กล้ามเนื้อต้นแขนด้านหลัง เหยียดแขนข้างหนึ่ง ขึ้นเหนือศรีษะแล้วงอศอกลง ใช้มืออีกข้างหนึ่งจับที่ศอก แล้วออกแรงดึง รู้สึกตึง ยืดค้างไว้ 15-30 วินาที แล้วพัก ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง โดยทำทั้ง 2 ข้าง  นอกจากนี้ยังต้องลุกขึ้นมาขยับร่างกาย เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต เช่น การย้ำเท้ายกเข่าอยู่กับที่ การยกส้นเท้าแตะก้น การย้ำเท้าแกว่งแขนอยู่กับที่ รวมทั้งอย่าลืมเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อควบคู่กันไปด้วยการออกกำลังกายง่าย ๆ เช่น การวิดพื้น การซิทอัพ และสำหรับ อ.อารมณ์ ต้องหากิจกรรมผ่อนคลายเพื่อลดภาวะเครียด เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ ดูหนังออนไลน์ เล่นเกม หรือเรียนรู้สิ่งที่สนใจ อาทิ การทำอาหาร ทำงานช่าง งานฝีมือ ผ่านช่อง YouTube เป็นต้น และควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ       อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงต่อวัน ช่วยให้ร่างกายและจิตใจได้ฟื้นสภาพ รู้สึกสดชื่นแจ่มใส เป็นผลดีต่ออารมณ์และความรู้สึก” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 23 เมษายน 2564

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!