กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนกินชอล์กเสี่ยงอันตราย ทำให้ฟันสึกกร่อนหรือฟันผุ การย่อยอาหารลำบาก ท้องผูก และลำไส้อุดตัน ส่วนในกรณีหญิงตั้งครรภ์ หากกินเข้าไปอาจส่งผลต่อพัฒนาการ ของทารกในครรภ์ ไม่แนะนำให้ทุกวัยเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าว
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีการกินชอล์กจนเกิดเป็นกระแสในโซเซียลมีเดียนั้น ถือเป็นพฤติกรรมการกินแบบแปลกประหลาด โดยการกินสิ่งของแทนอาหาร เช่น หิน ดิน แป้งดิบ น้ำแข็ง หรือชอล์ก พฤติกรรมนี้อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กที่มีอายุระหว่าง 18 เดือน ถึง 2 ปี แต่ถ้าในผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ ทางการแพทย์เรียกว่า Pica เป็นภาวะทางจิตเวช ถือเป็นความผิดปกติของการกินชนิดหนึ่ง และยังเชื่อมโยงกับพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ ภาวะทุพโภชนาการ และการตั้งครรภ์อีกด้วย ถ้าพบอาการเช่นนี้ควรไปพบแพทย์ และหากพบเห็นพฤติกรรมการกินชอล์กดังกล่าว ก็ไม่ควรลอกเลียนแบบหรือทำตาม เพราะถึงแม้ว่าชอล์กขาวจะมีพิษเพียงเล็กน้อย แต่ถ้ากินในปริมาณที่มากเกินไป หรือสะสมในร่างกายเป็นเวลานาน อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ เช่น ฟันสึกกร่อนหรือฟันผุ การย่อยอาหารลำบาก ท้องผูกหรือกีดขวางในลำไส้ ทำให้ลำไส้อุดตัน การติดเชื้อปรสิต เบื่ออาหาร และหากเป็นชอล์กสี ซึ่งใช้สารเคมีสีที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร อาจก่อให้เกิดอันตรายจากโลหะหนักต่าง ๆ เช่น ตะกั่ว ปรอท สารหนู โครเมียม สังกะสี การได้รับโลหะหนักเข้าไปในร่างกายมาก ๆ หรือเป็นประจำ จะเกิดการสะสมพิษในร่างกาย อาจทำให้เกิดอันตรายทั้งแบบเฉียบพลัน และแบบเรื้อรังได้ สำหรับในหญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร การกินชอล์กอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของทารกได้อีกด้วย
“ทั้งนี้ ร่างกายยังคงต้องการอาหารที่มีประโยชน์เพื่อเสริมสร้างพลังงาน ดังนั้น ในแต่ละวันมีอาหารหลากหลายประเภทที่จำเป็นมากกว่าการเปิบพิสดารสิ่งของหรือสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพ กรมอนามัยจึงยังคงเน้นย้ำให้ทุกกลุ่มวัยกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีความหลากหลาย เพื่อให้ร่างกาย ได้รับสารอาหารต่าง ๆ ครบถ้วน ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการ โดยเน้นการกินผักและผลไม้ รวมถึงปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ และถั่วเมล็ดแห้งเป็นประจำ ควบคู่กับการดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย ออกกำลังกายเป็นประจำ หมั่นชั่งน้ำหนักตัวเป็นระยะ อย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อการดูแลสุขภาพและรักษา น้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และมะเร็งบางชนิด เป็นต้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 22 กรกฎาคม 2565