กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะ หน้าร้อนเลือกน้ำแข็งที่ผ่านมาตรฐาน GMP ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข สังเกตรายละเอียดบนฉลาก ภาชนะบรรจุน้ำแข็ง ดูเครื่องหมาย อย. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต และเลือกสถานที่ซื้อน้ำแข็งที่สะอาดถูกสุขลักษณะ เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรค
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงหน้าร้อนเครื่องดื่มและของหวานคลายร้อนจะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ประชาชนส่วนใหญ่เลือกซื้อกินเพื่อคลายร้อน ดับกระหาย อาทิ น้ำแข็งไส หวานเย็น ขนมปังเย็น น้ำผลไม้ปั่น หรือน้ำต่างๆ ซึ่งมีส่วนประกอบของน้ำแข็งเป็นหลัก หากใช้น้ำแข็งที่ไม่สะอาดจะเสี่ยงต่อโรคในระบบทางเดินอาหารได้ ดังนั้นผู้ประกอบการควรเลือกน้ำแข็งที่มีวิธีการผลิตที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน GMP ซึ่งครอบคลุมด้านสุขลักษณะตั้งแต่ สถานที่ผลิต เครื่องมือเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิต คุณภาพน้ำที่ใช้ผลิต ภาชนะบรรจุ กระบวนการบรรจุ กระบวนการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค การควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงสุขลัษณะของผู้ปฎิบัติงาน และการควบคุมสัตว์แมลงนำโรคด้วย ส่วนประชาชนทั่วไปที่จะเลือกซื้อน้ำแข็งมาบริโภคจึงควรเลือกซื้อน้ำแข็งที่ได้มาตรฐาน GMP มีเลขสารบบอาหาร 13 หลัก ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต ภาชนะบรรจุสะอาด ต้องเป็นน้ำแข็งที่ผลิตเพื่อการบริโภค นอกจากนั้นอาจจะสังเกตุเมื่อน้ำแข็งละลายจะต้องใส ไม่มีตะกอนขาวขุ่นๆ ปะปนมาจากน้ำแข็งดังกล่าว
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ควบคุมการผลิตน้ำแข็งเพื่อจำหน่ายในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานต่างๆ ตามประกาศกระทรวสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ.2527) และฉบับที่137 (พ.ศ.2534)เรื่องน้ำแข็ง เพื่อกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานดังกล่าว หากฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตาม จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 และนอกจากนั้นพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ยังบัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการควบคุม ตรวจสอบสุขลักษณะของการจำหน่ายน้ำแข็งในร้านอาหารและแผงลอย ตามข้อกำหนดของท้องถิ่นนั้นๆ ด้วย หากฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตาม อาจมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น ผู้จำหน่ายน้ำแข็งจะต้องคำนึงถึงความสะอาดและปลอดภัย สถานที่เก็บรักษาเพื่อจำหน่ายต้องมีระดับสูงกว่าทางเดิน ง่ายต่อการทำความสะอาด และไม่มีสิ่งปนเปื้อนในน้ำแข็ง ภาชนะที่ใช้บรรจุน้ำแข็งต้องสะอาด ไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค หากเป็นน้ำแข็งที่บรรจุในถุงพลาสติกจะต้องเป็นพลาสติกไม่มีสี และไม่บรรจุในถุงพลาสติกที่ผ่านการใช้มาแล้วหรือเป็นถุงที่เคยบรรจุสารเคมีมาก่อน เช่น สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือปุ๋ย เป็นต้น ถ้าบรรจุในถังน้ำแข็งต้องเป็นถังที่บรรจุน้ำแข็งอย่างเดียวอาจจะมีที่ตักน้ำแข็งแบบมีด้ามเพื่อใช้ตักน้ำแข็งเท่านั้น ไม่ควรใช้แก้วหรือถ้วย กระป๋องจ้วงตักน้ำแข็งและห้ามนำขวดน้ำดื่ม น้ำอัดลม ผักหรือเนื้อสัตว์ แช่ในถังน้ำแข็งสำหรับบริโภค
“ทั้งนี้ ประชาชนควรเลือกซื้อน้ำแข็งที่ถูกสุขลักษณะได้มาตรฐาน GMP และหากจะบริโภคน้ำแข็งที่ใช้ตักแบ่งขายในร้านอาหาร ควรหลีกเลี่ยงน้ำแข็งที่ขนส่งโดยถุงกระสอบหรือน้ำแข็งบดบรรจุกระสอบและผู้จำหน่ายต้องไม่นำสิ่งของอื่นมาแช่ปะปนกับน้ำแข็งบริโภค เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ที่จะตามมากับน้ำแข็งที่ไม่ได้มาตรฐาน” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
กรมอนามัย / 21 เมษายน 2566