กรมอนามัย เตือน นักท่องเที่ยวเข้มป้องกันตนเองขั้นสูงสุด เลี่ยงสถานที่แออัด ลดเสี่ยงโควิด-19

  • 21 กุมภาพันธ์ 2565

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวปฏิบัติตามหลัก UP (Universal Prevention) พร้อมย้ำช่วยกันลดปริมาณขยะ คัดแยกขยะ และทิ้งลงถังอย่างถูกต้อง

     

    นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีการนำเสนอข่าว จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีการแออัดในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของไทย ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจาย เชื้อโควิด-19 ซึ่งจากผลการสำรวจอนามัยโพล เรื่องการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคในสถานที่ท่องเที่ยว ระหว่างวันที่ 4-18 กุมภาพันธ์ 2565 พบว่า สิ่งที่นักท่องเที่ยวทำได้มากที่สุดคือ สวมหน้ากากตลอดเวลา ร้อยละ 98 รองลงมาคือ ล้างมือเป็นประจำด้วยสบู่และน้ำ หรือแอลกอฮอล์ ร้อยละ 95 ทางด้านสถานที่ท่องเที่ยว ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 โดยกำหนดจุดเข้า-ออก และวัดอุณหภูมิก่อนเข้ามากที่สุด ร้อยละ 83 รองลงมาคือ มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ร้อยละ 62 และมีการกำกับ การสวมหน้ากากตลอดเวลา ร้อยละ 61 ตามลำดับ แต่ก็ยังพบมีความเสี่ยงในสถานที่ท่องเที่ยว โดยพบมากที่สุดคือ นักท่องเที่ยวหนาแน่นและแออัด ไม่เว้นระยะห่าง ร้อยละ 64 รองลงมาคือ มีคนไม่สวมหน้ากาก หรือสวมไม่ถูกต้อง ร้อยละ 46 และ ห้องน้ำ ห้องส้วม ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น ร้อยละ 34 ตามลำดับ
           นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ประชาชนที่เดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ยังคงต้องปฏิบัติ ตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด และคุมเข้มตนเองขั้นสูงสุดตามหลัก UP (Universal Prevention) ด้วยการเว้นระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร สวมหน้ากากอนามัยและทับด้วยหน้ากากผ้า ใส่ให้แนบสนิทกับใบหน้า ปิดทั้งจมูกและปากตลอดเวลา หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งของร่วมกันกับผู้อื่น ให้หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าที่สวมใส่อยู่ รวมทั้งใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อย ๆ หากมีความเสี่ยง ให้แยกตัวจากผู้อื่น และตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย ATK หากตรวจแล้วไม่พบเชื้อ ให้ตรวจซ้ำ หลังจากตรวจครั้งแรก 3 – 5 วัน หรือเมื่อมีอาการ
           “นอกจากนี้ ขอความร่วมมือประชาชนและนักท่องเที่ยวใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยการช่วยกันลดปริมาณขยะ รวมทั้งไม่นำสิ่งของที่ก่อให้เกิดขยะเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ไม่ใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร ลดการใช้ถุงพลาสติก เปลี่ยนมาใช้ภาชนะที่ใช้ซ้ำได้ หรือย่อยสลายง่าย หรือทำจากวัสดุธรรมชาติ หากนำเข้าไปในสถานที่ท่องเที่ยว ให้เก็บคืนออกมาให้มากที่สุด เช่น ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง เป็นต้น รวมทั้งขอให้แยกประเภทขยะ ทิ้งขยะลงถัง หรือในภาชนะที่จัดไว้ให้ถูกต้องด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***
กรมอนามัย / 21 กุมภาพันธ์ 2565
© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH