#ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยเขียงสกปรกอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค แนะให้ความสำคัญตั้งแต่การเลือก การใช้ และการเก็บอย่างถูกสุขลักษณะ หมั่นทำความสะอาดเป็นประจำ ช่วยป้องกันโรคระบบทางเดินอาหาร
นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงอันตรายจากเขียงสกปรกว่า เขียงถือว่าเป็นภาชนะที่สำคัญในการประกอบอาหาร โดยเป็นที่รองรับอาหารที่ต้องการหั่น สับ ซอย ให้ได้ขนาด ตามที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสุก อาหารดิบ หรืออาหารพร้อมบริโภค แต่หากผู้บริโภคหรือผู้ประกอบอาหารละเลยในเรื่องการเลือก การใช้ และการเก็บเขียงแล้ว ย่อมก่อให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินอาหารตามมาได้ โดยเฉพาะเขียงที่สกปรก ไม่มีการล้างทำความสะอาดเป็นประจำ จะเป็นพาหะนำเชื้อโรคปนเปื้อนสู่อาหารหรือเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ผู้ประกอบอาหาร จึงควรตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องการเลือก การใช้ และการเก็บเขียงอย่างถูกสุขลักษณะ
นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า เขียงที่จำหน่ายทั่วไปแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดคือ เขียงไม้และเขียงพลาสติก การเลือกซื้อจึงควรเลือกเขียงที่มีพื้นผิวเรียบ ไม่มีรอยขูด หรือร่องเฉือนลึกลงจนไม่สามารถล้างทำความสะอาดได้ ส่วนการใช้เขียงนั้นควรทำความสะอาดทุกครั้งก่อนและหลังการใช้งาน โดยเฉพาะเขียงทีใช้หั่นเนื้อสัตว์ ต้องล้างขจัดคราบไขมัน โดยน้ำยาล้างจาน แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด และห้ามนำผ้าที่สกปรกมาเช็ดเ พราะจะเป็นสื่อที่นำเชื้อโรคมาปนเปื้อนอาหารที่มีการหั่น สับบนเขียงได้ นอกจากนี้ การประกอบอาหารแต่ละครั้งควรแยกเขียงสำหรับหั่นอาหารสุก ดิบ หรืออาหารพร้อมบริโภค เพราะเชื้อโรคสารพัดชนิดจากอาหารดิบจะติดมากับอาหารที่จะบริโภคได้เช่นกัน
“สำหรับบางช่วงที่เขียงไม่ได้ใช้งาน ต้องใช้ฝาชีครอบเขียงในขนาดที่พอดี เพื่อป้องกันแมลงวันตอม ส่วนการเก็บรักษาเมื่อเลิกใช้งานแล้วนั้น ควรเก็บไว้ให้สูงกว่าพื้น และหากเป็นเขียงไม้ต้องหมั่นนำออก ผึ่งแดดเพื่อป้องกันเชื้อราที่จะเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญต้องหมั่นทำความสะอาดและการดูแลรักษาเขียงอย่างถูกวิธีเป็นประจำ อันจะช่วยป้องกันและลดภาวะเสี่ยงของการเจ็บป่วยด้วยระบบทางเดินอาหารที่มีเขียงเป็นพาหะนำโรคได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 20 กรกฎาคม 2563