#ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะพุทธศาสนิกชนช่วยกันจัดสภาพแวดล้อมที่ดีภายในวัดด้วยหลัก GREEN ได้แก่ 1) G : Garbage 2) R : Restroom 3) E: Energy 4) N: Nutrition และ 5) N: Nutrition พร้อมย้ำในช่วงที่มีการ เฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ก่อนเข้าวัดทำบุญควรปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่ระบาด โรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยในการ มาทำบุญ หรือจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น งานอุปสมบท งานศพ งานกฐิน งานผ้าป่า และงานทำบุญในวันสำคัญทาง พุทธศาสนา เป็นต้น ซึ่งการจัดงานบุญหรืองานประเพณีแต่ละครั้งมีผู้คนจำนวนมากเข้าร่วมงาน อาจทำให้เกิดความ ไม่สะอาด และเพิ่มปริมาณขยะ โดยเฉพาะจำพวกถุงพลาสติกหรือขยะประเภทต่าง ๆ ภายในวัด รวมทั้งความสกปรก ในการใช้ห้องน้ำ ห้องส้วม หากมีการจัดการที่ไม่ดีพอก็อาจจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงสัตว์พาหะนำโรคและ แพร่เชื้อโรคได้ จึงขอความร่วมมือพระสงฆ์และประชาชนช่วยกันจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมภายในวัด ด้วยหลัก GREEN ได้แก่ G : Garbage ส่งเสริมการคัดแยกขยะเพื่อลดปริมาณขยะที่ต้นทาง หรือมีการนำขยะไปใช้ประโยชน์จะช่วยลดขยะในวัดตามหลักการง่ายๆ 3R ได้แก่ 1) Reduce ลดการใช้ เลือกใช้วัสดุที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ใช้ใบตองหรือ บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้แทนถ้วยโฟมหรือพลาสติก 2) R : Reuse นำกลับมาใช้ใหม่หรือใช้ซ้ำ เช่น การใช้ปิ่นโตใส่อาหารมาทำบุญแทนการใช้ถุงพลาสติก หรือแทนการใช้ถ้วยโฟม 3) R : Recycle รีไซเคิล เลือกใช้ทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ภายในวัดได้ เช่น กระดาษ หรือนำขยะอินทรีย์กลับมาใช้ประโยชน์ เช่น ทำปุ๋ยหมักหรือ เสวียนต้นไม้ แทนการเผา
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า R : Restroom ห้องน้ำ ห้องส้วม โดยส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ส้วมสาธารณะอย่างถูกต้อง รวมทั้งส่งเสริมให้วัดมีห้องน้ำ ห้องส้วมแบบนั่งราบและมีราวจับ สำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ หญิงตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุภายในวัด E: Energy การลดการใช้พลังงาน ด้วยการตรวจเช็คสภาพไฟฟ้าในวัดให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน กำหนดเวลาเปิด–ปิดไฟฟ้า หรือลดการใช้พลังงานอื่นในวัดที่ไม่จำเป็นลง E: Environmental การจัดการสภาพแวดล้อม พื้นที่ที่ใช้งานเป็นประจำภายในวัดต้องสะอาด จัดเก็บสิ่งของเป็นระเบียบ และมีความปลอดภัย โดยจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ เช่น มีทางลาดหรือราวจับบริเวณทางขึ้นศาลา บริเวณห้องน้ำ ห้องส้วม และมีมาตรการลดการจุดธูปเทียนครั้งละมากๆ ใช้ธูปสั้น ขนาดเล็ก หรือเปลี่ยนมาใช้ธูปเทียนไฟฟ้าแทน ที่สามารถช่วยลดการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน (PM 10) ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพ เป็นต้น และ N: Nutrition อาหารที่ตักบาตรหรือถวายพระสงฆ์ขอให้เน้นอาหารเมนูชูสุขภาพ ลดหวาน มัน เค็ม เลี่ยงเครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม ชาสำเร็จรูป เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
“ทั้งนี้ เนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงที่มีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงขอความร่วมมือประชาชนที่เข้าวัดทำบุญควรปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ก่อนหยิบอาหารใส่บาตร และหลังเข้าห้องส้วมทุกครั้ง นอกจากนี้ ควรหมั่นสังเกตอาการ หากมีไข้ ไอ จาม จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ควรงดเข้าวัดทำบุญและไปพบแพทย์ทันที” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 20 กุมภาพันธ์ 2564