กรมอนามัยแนะ ผู้สูงอายุ กินอาหารเสริมภูมิคุ้มกัน ป้องกันโควิด-19

  • 18 สิงหาคม 2564

          #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขแนะ ลูกหลาน ผู้ดูแล ผู้สูงอายุในครอบครัวให้มีสุขภาพแข็งแรงด้วยการจัดอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันร่างกายป้องกันการติดเชื้อโรคโควิด-19

          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันลดลงตามวัยและหากมีการติดเชื้อจะมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนทั่วไปโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคปอด โรคมะเร็ง จึงต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ด้วยการกินอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสมกินผักและผลไม้เป็นประจำ ออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ จะช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกายโดยใน 1 วัน ผู้สูงอายุควรกินอาหารให้ครบ 5 หมู่แต่ละหมู่ให้มีความหลากหลาย เน้นกินอาหารที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น ปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมันไข่ นม อาหารทะเลถั่วต่างๆ เห็ด ผักผลไม้หลากหลายสี ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ดื่มน้ำเปล่าสะอาดอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ”

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การจัดอาหารสำหรับผู้สูงอายุขอให้คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้เป็นสำคัญ คือ      1) อาหารควรมีความอ่อนนุ่ม เคี้ยวกลืนได้ง่าย โดยนำผัก เนื้อสัตว์ ถั่วเมล็ดแห้ง หั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ และต้มหรือตุ๋นให้เปื่อย เพื่อให้สะดวกต่อการเคี้ยวและกินได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น 2) แบ่งมื้ออาหารออกเป็นหลายมื้อ เพิ่มการจัดอาหารว่างในระหว่างวันจะช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับอาหารอย่างเพียงพอมากขึ้น 3) รสชาติของอาหารไม่รสจัดมาก อาจใช้เครื่องเทศ สมุนไพรเพิ่มกลิ่นและรสชาติ ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร 4) เน้นอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หรืออุ่นอาหารให้ร้อนก่อนเสมอ การจัดอาหารให้ในขณะที่ยังร้อน จะทำให้อาหารมีความน่ากิน และมีรสชาติดีกว่าอาหารที่เย็นชืด 5) เลือกดื่มนมรสจืด นมพร่องมันเนยวันละ 1-2 แก้ว หากผู้สูงอายุที่ดื่มนมไม่ได้อาจจัดเป็นโยเกิร์ตรสธรรมชาติ น้ำเต้าหู้หรือนมถั่วเหลืองที่มีการเสริมแคลเซียมได้ หรือเพิ่มอาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียมอื่น ๆ ได้แก่ ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้แข็ง ผักใบเขียวเข้ม เช่น ใบขี้เหล็ก ตำลึง คะน้า ขึ้นฉ่ายกวางตุ้ง เป็นต้น

          “สำหรับผู้สูงอายุที่ติดเตียง โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับเส้นประสาทเช่นอัมพฤกษ์ อัมพาต อัลไซเมอร์ หรือพาร์กินสัน อาจพบปัญหาการกลืนลำบาก จะทำให้สำลักง่าย หรือไอขณะกินอาหาร อาจทำให้อาหารลงไปในหลอดลม มีโอกาสทำให้ปอดติดเชื้อหรือเป็นปอดบวมได้ควรจัดให้อยู่ในท่านั่งหรือท่านอนศีรษะสูง โดยผู้ดูแลควรปรับเตียง 45-90 องศา ก่อนเริ่มกินอาหาร เพื่อป้องกันการสำลักนอกจากจะกินอาหารเพื่อให้ได้รับสารอาหารในการช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายแล้วระหว่างที่มีการระบาดโรคโควิด-19 ผู้สูงอายุและผู้ดูแลควรอยู่แต่ในบ้านให้มากที่สุด ผู้ดูแลที่ยังต้องออกไปนอกบ้านด้วยเหตุผลความจำเป็นต่างๆ ไม่ควรเข้าไปคลุกคลีกับผู้สูงอายุ รักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร และควรใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่เข้าไปพูดคุยกับผู้สูงอายุจะช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19ของผู้สูงอายุได้”อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย/18 สิงหาคม 2564

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH