กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ตกเป็นเหยื่อของการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง โดยเฉพาะขนมกรุบกรอบและเครื่องดื่มผสมน้ำตาล ที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะน้ำหนักเกินหรืออ้วนในเด็ก
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วนในเด็ก ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขไทย โดยข้อมูลจากระบบเฝ้าระวังกระทรวงสาธารณสุข (HDC) พบว่า เด็กเล็ก อายุ 0-5 ปี มีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ร้อยละ 8.7 เด็กวัยเรียน อายุ 6-14 ปี พบร้อยละ 11.2 และเด็กวัยรุ่นอายุ 15 -18 ปี พบร้อยละ 13.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตลาดที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อและบริโภคอาหารและเครื่องดื่มของเด็กที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง ที่มักมุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ผ่านกลยุทธ์การโฆษณาทั้งสื่อออฟไลน์ ออนไลน์ และเกมต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมการขาย ลด แลก แจก แถม ชิงโชค ชิงรางวัล ส่งผลให้เด็กชื่นชอบและบริโภคผลิตภัณฑ์นั้นเพิ่มขึ้นได้ ประกอบกับในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในขณะนี้ ที่เด็กสามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทำให้เด็กซื้อและบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีไขมัน น้ำตาล โซเดียมสูง เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน รวมทั้งเสี่ยงต่อภาวะบกพร่องด้านสติปัญญา และการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ในอนาคต
“ทั้งนี้ รายงานสุขภาพคนไทย พ.ศ.2563 สำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้ออาหารสำหรับเด็กไทย พบว่า ส่วนใหญ่เด็กไทยยังซื้ออาหารตามความชอบ ร้อยละ 27.7 อยากกิน ร้อยละ 18.8 และรสชาติเป็นหลัก ร้อยละ 18.8 และคำนึงถึงคุณค่าทางอาหาร มีเพียงร้อยละ 8.1 นอกจากนี้ การสำรวจกรมอนามัย พ.ศ.2560 ยังพบว่า เด็กเล็กเกือบร้อยละ 50 ดื่มนมรสหวานและนมเปรี้ยว เด็กวัยเรียนและวัยรุ่นประมาณ 1 ใน 3 คน กินขนมกรุบกรอบทุกวัน และมากกว่าครึ่งหนึ่งดื่มน้ำอัดลม 1-3 วันต่อสัปดาห์ และเกือบร้อยละ 15 ดื่มน้ำอัดลมทุกวัน ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลมของเด็กวัยเรียนเพิ่มขึ้นและเด็กไทยมากกว่าร้อยละ 80 บริโภคอาหารฟาสฟู้ดสัปดาห์ละอย่างน้อย 1 ครั้ง เฉลี่ยสัปดาห์ละ 4 ครั้ง ซึ่งสูงสุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศ ที่มีรายได้ระดับเดียวกัน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 17 กันยายน 2564