กรมอนามัย ห่วงเดินทางกลับหลังสงกรานต์ หวั่นการ์ดตก แนะปฏิบัติเข้มช่วยลดเสี่ยงโควิด-19

  • 19 เมษายน 2564

              #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ ประชาชนที่เดินทางกลับหลังเทศกาลสงกรานต์โดยใช้บริการขนส่งสาธารณะปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด หวั่นการ์ดตก พร้อมแนะประเมินตนเอง ผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยเซฟไทย”

               นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า หลังวันหยุดยาวช่วงเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าจะมีประชาชนจำนวนมากใช้บริการขนส่งสาธารณะเพื่อเดินทางกลับมาทำงานตามปกติ จึงขอให้ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะมีมาตรการคัดกรองพนักงานและผู้โดยสารอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่จัดให้มีจุดบริการ      ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร และจำกัดหรือลดจำนวนผู้โดยสารต่อเที่ยวลงให้เหลือเพียง 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อไม่ให้แออัด มีช่องทางการจำหน่ายตั๋วโดยสารล่วงหน้าผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ทางโทรศัพท์ เว็บไซต์  แอปพลิเคชัน เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัส มีการทำความสะอาดห้องส้วมในสถานีขนส่งผู้โดยสารทุก 2 ชั่วโมง ทำความสะอาดยานพาหนะ พื้นผิวสัมผัส และอุปกรณ์ภายในที่มีการใช้งานร่วมกันบ่อย ๆ จัดให้มีการระบายอากาศภายในอาคารอย่างเหมาะสม เช่น เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อให้อากาศถ่ายเท และทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศตามระยะเวลาที่กำหนด

               นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการปฏิบัติตัวสำหรับพนักงานขับรถ พนักงานต้อนรับ ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล หมั่นล้างมือด้วยสบู่และน้ำ เมื่อมีการสัมผัสสิ่งของร่วมกันหรือพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวไว้ระหว่างทาง และพนักงานที่ปฏิบัติงานในจุดเสี่ยง เช่น พนักงานทำความสะอาด เก็บรวบรวมขยะ ต้องสวมถุงมือ รองเท้า หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน และล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ หากเป็นไปได้ควรอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันทีหลังปฏิบัติงาน

               “สำหรับผู้โดยสารควรล้างมือก่อนขึ้นรถโดยสารหรือเครื่องบิน สวมหน้ากากตลอดเวลาขณะเดินทาง ซึ่งผลการสำรวจอนามัยโพล ระหว่างวันที่ 24 มีนาคม–15 เมษายน 2564 ผู้ตอบจำนวน 13,639 พบว่าประชาชนสวมหน้ากากเมื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะ ร้อยละ 93.75 โดยสวมตลอดเวลา ร้อยละ 76.63 นอกจากนี้ ขณะเดินทางขอให้งดกินอาหารเครื่องดื่ม แต่ควรเลือกนำกลับบ้านแทน และให้หลีกเลี่ยงการพูดคุยโดยไม่จำเป็น ลดการใช้บริการห้องน้ำเท่าที่จำเป็น และต้องสังเกตอาการตนเองสม่ำเสมอ หากมาจากพื้นที่เสี่ยง มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เหนื่อยหอบ หรือมีอาการที่พบเพิ่ม คือ ตาแดง มีผื่นแดงตามตัว น้ำมูก น้ำตาไหล  ควรไปพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ สามารถเข้าไปประเมินตนเองได้ผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยเซฟไทย” เพื่อประเมินตนเองว่ามีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อหรือไม่ เป็นการปกป้องคนในครอบครัวและเพื่อนในที่ทำงานไม่ให้เป็นโควิด-19” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 17 เมษายน 2564

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH

ดาวน์โหลด eBook สุขภาพ

แหล่งข้อมูลความรู้เกี่ยวกับสุขภาพพร้อมให้คุณดาวน์โหลดไปศึกษาฟรี!