กรม อ. แนะฉีดพ่นสารเคมีทำความสะอาด ฆ่าเชื้อให้ถูกวิธี ย้ำชัด ‘สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ’ ป้องกันโควิด-19 ได้ดี

  • 16 เมษายน 2564

        #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะวิธีการฉีดพ่นสารเคมีในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อไวรัสในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ให้ถูกวิธี พร้อมย้ำการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ ช่วยป้องกันได้ดี

               นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย ยังอยู่ในช่วงการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจึงควรต้องป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยขอให้ยึดหลักปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน D-M-H-T-T-A คือ D : Distancing เว้นระยะห่าง M : Mask wearing สวมหน้ากาก H : Hand washing ล้างมือบ่อย ๆ T : Temperature ตรวจวัดอุณหภูมิ  T : Testing ตรวจเชื้อโควิด-19 และ A : Application Thaichana ใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ/หมอชนะ นอกจากนี้การแพร่กระจายหรือการได้รับเชื้อโรคที่อยู่    ในสิ่งแวดล้อม ยังคงเป็นประเด็นที่ประชาชนมีความกังวลโดยเฉพาะการทำความสะอาด รวมถึงความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการทำลายเชื้อโรคและความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

               นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายหน่วยงาน ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดพ่นสารเคมีในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อที่ถูกวิธี  ดังนี้ 1. การฉีดพ่นตามร่างกาย ไม่แนะนำให้ฉีดพ่นตามร่างกายไม่ว่ากรณีใด ๆ เพราะสารฆ่าเชื้อมีฤทธิ์กัดกร่อนเป็นอันตรายต่อผิวหนังตามร่างกาย สำหรับสารเคมีที่แนะนำให้ใช้กับผิวหนังคือ แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ใช้สำหรับฆ่าเชื้อที่มือ 2. การฉีดพ่นในสิ่งแวดล้อม องค์การอนามัยโลกไม่แนะนำให้ฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อเป็นละอองฝอยในที่โล่ง เช่น ถนน ตลาด เพราะอาจทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อโรค อีกทั้งไม่สามารถเข้าถึงซอกมุม ทำให้การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อไม่ทั่วถึง ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องฉีดพ่นใส่สิ่งของหรือพื้นผิวต่าง ๆ เช่น ล้อยางรถยนต์ กระเป๋าเดินทาง ขอให้ฉีดใกล้พื้นผิวสัมผัสมากที่สุด เพื่อไม่ให้ฟุ้งกระจายและควรทิ้งไว้เป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วควรจะต่อด้วยการเช็ดถูพื้นผิวทำความสะอาด โดยมีสาร 3 ชนิดที่ทำลายเชื้อไวรัสได้ภายในระยะเวลา 1 นาที ได้แก่ สารประกอบโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 0.1 เปอร์เซ็นต์ (เช่น น้ำยาฟอกขาวความเข้มข้น 1,000 ppm) แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5 เปอร์เซ็นต์ ตามความเหมาะสม       

               “3. การฉีดพ่นในอาคารหรือพื้นที่ปิด สามารถเป็นทางเลือกในการดำเนินการได้ แต่หากจะใช้ต้องใช้อย่างถูกวิธีตามขั้นตอนและตรวจสอบชนิดสารที่มีฉลากของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับรอง โดยเข้าไปที่เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สามารถค้นหาได้ด้วยเลข อย. หรือชื่อผลิตภัณฑ์ สิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อคือชนิดสารเคมีที่ใช้ระยะเวลาการฆ่าเชื้อ (contact time) และความสะอาดของพื้นผิว ซึ่งสารฆ่าเชื้อจะออกฤทธิ์ได้ดีนั้น ต้องทำความสะอาดพื้นผิวก่อน อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมที่ช่วยป้องกันโรคโควิด-19 ได้ดีคือการสวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 16 เมษายน 2564

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH