กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงหญิงตั้งครรภ์ กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะเกิดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อได้มากกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ ควรระมัดระวังและดูแลตนเองเป็นพิเศษ โดยงดออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น เว้นระยะห่างจากบุคคลใกล้ชิด งดใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับคนในบ้าน และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ รวมทั้งสมาชิกในบ้านควรให้ความสำคัญช่วยปกป้องหญิงตั้งครรภ์จากการสัมผัสเชื้อ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโวิด-19
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หญิงตั้งครรภ์จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสจะเกิดอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ได้มากกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ จึงควรระมัดระวังตนเอง งดออก นอกบ้านโดยไม่จำเป็น เว้นระยะห่างจากบุคคลใกล้ชิด งดใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับคนในบ้าน หมั่นล้างมือ สมาชิกในบ้านควรให้ความสำคัญในการช่วยปกป้องหญิงตั้งครรภ์จากการสัมผัสเชื้อ ให้คิดไว้เสมอว่าหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจากการสำรวจสถานการณ์การติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ 126 ราย เป็นหญิงไทย 64 ราย หญิงต่างด้าว 62 ราย โดยจังหวัดที่พบติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ สมุทรสาคร จำนวน 66 ราย กรุงเทพมหานคร 10 ราย และนนทบุรี จำนวน 7 ราย โดยพบอาการปอดอักเสบในหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ ร้อยละ 22.22 เสียชีวิต 2 ราย มีทารกติดเชื้อ 10 ราย ส่วนใหญ่ร้อยละ 70 อาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการ สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย อยู่ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ไม่มีโรคประจำตัว โดยมีการฝากครรภ์ตามเกณฑ์ รายแรกติดเชื้อจากการเข้าไปในสถานที่แออัด ส่วนอีกรายติดจากคนในครอบครัว
“สำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติสัมผัสเสี่ยงสูง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อนัดหมายตรวจหาเชื้อ หากเป็น ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้แยกตัวและเฝ้าสังเกตอาการ พร้อมทั้งรอฟังผลการตรวจของผู้สัมผัสใกล้ชิด เมื่อพบว่ามีอาการ ไข้ ไอ มีน้ำมูก ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการ สำหรับการถ่ายภาพรังสีปอดเพื่อตรวจหาภาวะปอดอักเสบ สามารถทำได้ในหญิงตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย การใช้ยาต้านไวรัส สามารถใช้ได้เหมือนคนทั่วไป ยกเว้นในการตั้งครรภ์ช่วง 3 เดือนแรก แพทย์จะพิจารณายาต้านไวรัสตัวอื่นที่ไม่มีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ หากอาการไม่รุนแรงมากสามารถให้นมลูกได้ แต่จะต้องเข้มงวดในมาตรการป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเคร่งครัด โดยสวมหน้ากากตลอดเวลา หมั่นล้างมือ ไม่สัมผัสบริเวณใบหน้า ปาก และจมูกของลูก ที่สำคัญคืออย่าเผลอชื่นชมหอมแก้มลูก และขณะไม่ได้ให้นมลูกแนะนำให้นอนแยกกันเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร หรือมีฉากกั้น แต่อยู่ในห้องเดียวกันได้ ในกรณีที่ไม่สามารถให้ลูกดูดนมจากเต้าได้ แนะนำให้บีบน้ำนมและให้ผู้ช่วยป้อนแทน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ/ 15 พฤษภาคม 2564