กรมอนามัย เตือน อุปกรณ์ ‘ไม้ – ไม้ไผ่’ ใช้ทำอาหาร เสี่ยงเชื้อราง่าย แนะล้าง – ผึ่งแห้งสนิท

  • 15 กุมภาพันธ์ 2565

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ประกอบการร้านอาหาร ใส่ใจถึงความสะอาด และความปลอดภัยของภาชนะต่าง ๆ ที่ใช้ในการปรุงประกอบอาหาร โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่นำมาจากไม้ หรือไม้ไผ่ หลังใช้งานต้องล้างให้สะอาด ผึ่งแดดให้แห้งสนิท เพื่อป้องกันเชื้อรา และสร้างความมั่นใจผู้บริโภค  

       

           นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีการนำเสนอข่าวจากเพจ kapook เกี่ยวกับร้านอาหารที่ใช้เสื่อพันข้าวปั้นที่มีลักษณะการเกิดเชื้อราบนอุปกรณ์นั้น ซึ่งเสื่อพันข้าวปั้นส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ไผ่ หากล้างทำความสะอาดแล้วไม่ผึ่งแดดหรือผ่านการอบให้แห้งสนิท และใช้ไปเป็นเวลานาน ทำให้เสี่ยงเกิดเชื้อรา ที่ผลิตอะฟลาทอกซินได้ บางครั้งสามารถมองเห็นเป็นจุดดำเล็ก ๆ อยู่โดยรอบ รวมถึงเชื้อราอยู่หลายชนิด เช่น Penicillium, Aspergillus และ Alternaria  จึงควรล้างอุปกรณ์ประเภทไม้ให้สะอาด ล้างน้ำเปล่าหลาย ๆ ครั้ง และตากให้แห้ง อย่าให้มีความชื้นสะสม หากผู้บริโภคได้รับสารอะฟลาทอกซินไปสะสมในร่างกายจนมีผลทําให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น ตับอักเสบ และมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งตับได้ ผู้ประกอบการร้านอาหาร  จึงควรใส่ใจถึงความปลอดภัยของภาชนะต่าง ๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่ทำมาจากไม้หรือไม้ไผ่ เช่น ตะเกียบ  เขียง เสื่อพันข้าว เป็นต้น โดยหลังการใช้งานให้ล้างให้สะอาด ไม่ให้มีเศษอาหารติดค้าง ผึ่งแดดหรืออบให้แห้งสนิท ก่อนจะนำมาใช้ในครั้งต่อไป และหมั่นสังเกตความสะอาดของอุปกรณ์ หากพบมีเชื้อราให้ทิ้งทันที ห้ามนำกลับมาใช้ซ้ำ รวมถึงการนำตะเกียบไม้ไผ่แบบใช้ครั้งเดียว ที่ผู้ประกอบการหรือบริโภคบางคนอาจรู้สึกเสียดาย และนำกลับมาใช้ใหม่ โดยคิดว่าล้างทำความสะอาดก็เพียงพอแล้ว แต่ความจริงตะเกียบใช้แล้วทิ้ง หากเก็บไม่ถูกสุขลักษณะ เก็บในที่ชื้น        ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดเชื้อรา เมื่อนำมาใช้คีบอาหารทำให้ปนเปื้อนได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันอันตรายที่จะตามมาตะเกียบใช้แล้วทิ้งจึงควรใช้เพียงครั้งเดียว ไม่ควรใช้ซ้ำ

          “สำหรับสุขอนามัยของผู้ปรุงประกอบอาหาร ต้องแต่งกายให้สะอาด สวมเสื้อมีแขน ผูกผ้ากันเปื้อน สวมหมวกหรือตาข่ายคลุมผมตลอดระยะเวลา ดูแลมือให้สะอาด ตัดเล็บให้สั้น ไม่ทาสีเล็บ กรณีเกิดบาดแผลที่มือ ให้ทำความสะอาดใส่ยาฆ่าเชื้อ ทำแผล ปิดพลาสเตอร์ เพื่อปกปิดส่วนที่เป็นบาดแผลด้วยพลาสเตอร์กันน้ำให้มิดชิด หรือสวมถุงมือเมื่อต้องสัมผัสอาหาร ใช้อุปกรณ์หยิบตักอาหารที่เตรียมหรือปรุงสำเร็จแล้ว เช่น ทัพพี คีมคีบอาหาร ช้อนตัก ตะเกียบคีบ ไม่ควรใช้มือหยิบจับอาหาร และติดบัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหารที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรของกรมอนามัยทุกครั้งที่ปฏิบัติงาน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

กรมอนามัย / 15 กุมภาพันธ์ 2565

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH