กรมอนามัย มอบศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ลงพื้นที่ตรวจประเมิน ‘ตลาดสุชาติ-ตลาดพรพัฒน์’ เตรียมพร้อมก่อนเปิด

  • 16 กุมภาพันธ์ 2564

 

         #ANAMAINEWS กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ผนึกกำลังร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ตรวจประเมินทั้ง 2 ตลาด ครอบคลุมตั้งแต่ส่วนที่ 1 สถานประกอบการ/เจ้าของตลาด ส่วนที่ 2 ผู้ค้า ผู้สัมผัสอาหาร และผู้ปฏิบัติงานในตลาด  และส่วนที่ 3 ผู้ซื้อ/ผู้บริโภค เพื่อเตรียมพร้อมก่อนพิจารณาเปิดดำเนินการ

 

         นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการระบาดใน Cluster ใหม่ในตลาดสุชาติ และตลาดพรพัฒน์ ทำให้มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในจังหวัดปทุมธานีนั้น ขณะนี้กรมอนามัย ได้มอบให้ศูนย์อนามัยที่ 4 สระบุรี ลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ร่วมกันตรวจประเมินทั้ง 2 ตลาด เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนพิจารณาเปิดดำเนินการ ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้ กรมอนามัยได้ทำการประเมินใน 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนที่ 1 สถานประกอบการ/เจ้าของตลาด โดยต้องมีการกำหนดทางเข้า-ออกตลาดที่ชัดเจน ถ้ามีทางเข้า-ออกหลายทางต้องมีการคัดกรองผู้ใช้บริการทุกทาง และต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการ มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล แผงค้า การซื้อสินค้า และจุดชำระเงินอย่างน้อย 1-2 เมตร  มีที่ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ให้บริการอย่างเพียงพอ มีการทำความสะอาดและล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง สำหรับแผงจำหน่ายอาหารสดหรือแผงชำแหละเนื้อสัตว์สดต้องทำความสะอาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือน้ำยาฆ่าเชื้อเป็นประจำทุกวัน มีพนักงานดูแลรักษาความสะอาดประจำตลาด มีมาตรการลดความแออัดในพื้นที่ให้บริการ คุมเข้มสุขลักษณะของอาหารที่จำหน่าย มีการจัดการสภาพแวดล้อมในตลาดและทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วมที่ให้บริการในตลาด เน้นบริเวณจุดเสี่ยงสัมผัสร่วม พร้อมทั้งมีการจัดการขยะอย่างถูกต้องและเก็บรวบรวมขยะนำไปกำจัดทุกวัน โดยให้สื่อสารเน้นย้ำประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อโควิดตามช่องทางต่าง ๆ ให้ผู้ประกอบกิจการเจ้าของร้าน/แผงในตลาด

          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่ 2 ผู้ค้า ผู้สัมผัสอาหาร และผู้ปฏิบัติงานในตลาด หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดขายและไปพบแพทย์ทันที สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ให้บริการ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือการทำกิจกรรมร่วมกันที่ต้องถอดหน้ากาก ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนและหลังปฏิบัติงาน หลังออกจากห้องส้วมและหลังสัมผัสสิ่งสกปรก ลดการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ซื้อ เช่น การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล แสดงป้ายราคาสินค้า มีอุปกรณ์หรือถาดสำหรับรับเงิน หรือชำระเงินออนไลน์ ส่วนผู้ปฏิบัติงานเก็บขยะและทำความสะอาดต้องสวมถุงมือยาง ผ้ากันเปื้อน รองเท้าพื้นยาง หุ้มแข้ง และใช้ปากคีบด้ามยาวเก็บขยะใส่ถุงและปิดปากถุงให้มิดชิด สำหรับส่วนที่ 3 ผู้ซื้อ/ผู้บริโภค ต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่มาใช้บริการ และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1-2 เมตร มีการวางแผนในการซื้อสินค้าเพื่อความรวดเร็วและลดระยะเวลาที่ใช้บริการตลาด ซึ่งผลการสำรวจอนามัยโพล ครั้งที่ 7 วันที่ 23 มกราคม–1 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่าประชาชนสวมหน้ากากเป็นประจำเมื่อออกจากบ้านไปที่สาธารณะ ร้อยละ 95.9  โดยสวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่อไปตลาด/ตลาดนัด ร้อยละ 81.2

          “ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการตลาดต้องให้ความสำคัญคือการตรวจวัดอุณหภูมิ การสแกนไทยชนะ การจัดทำทะเบียนผู้ขาย และทะเบียนผู้ประกอบการ รถเร่ที่มาซื้อของในตลาดให้ครอบคลุม เพื่อประโยชน์ในการติดตามผู้สัมผัสโรค ซึ่งในเบื้องต้นได้ขอความร่วมมือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดได้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งที่มีตลาดทุกประเภทได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวควบคู่กับการปฏิบัติตามมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ / 15 กุมภาพันธ์ 2564

กองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

เลขที่ 88/22 ถ.ติวานนท์ ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี

Email prnews@anamai.mail.go.th

โทรศัพท์ 0-2590-4053

ติดตามกรมอนามัย

เรามีสาระสุขภาพดีๆ ส่งตรงถึงอีเมลคุณทุกสัปดาห์

Subscription

© DEPARTMENT OF HEALTH : MINISTRY OF PUBLIC HEALTH